สงครามอิสราเอล-ฮามาส: ทำไมหน่วยข่าวกรองอิสราเอลจึงยับยั้งการบุกโจมตีครั้งใหญ่จากฉนวนกาซาไม่ได้


ฮามาสโจมตี

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้ว

“เราไม่รู้เลยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร”

นั่นคือปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่อิสราเอล หลังถูกถามว่า เพราะเหตุใดหน่วยข่าวกรองอิสราเอล ซึ่งมีทรัพยากรมหาศาลถึงไม่ทราบเลยว่า กลุ่มฮามาสจะโจมตีครั้งใหญ่เช่นนี้

มือปืนของกองกำลังติดอาวุธฮามาส ทะลวงข้ามพรมแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา เข้ามาได้ ทั้งที่อิสราเอลตั้งป้อมปราการ-รั้วลวดหนาม แน่นหนา

บนท้องฟ้า กลุ่มฮามาสก็กระหน่ำยิงจรวดหลายพันลูกโจมตีหลายเมืองในอิสราเอล

ทรัพยากรด้านข่าวกรองของอิสราเอล ถือว่าเปี่ยมด้วยศักยภาพ มีทั้งความร่วมมือของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติอิสราเอล (Shin Bet), หน่วยข่าวกรองระหว่างประเทศ (Mossad) และทรัพยากรทั้งหมดของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (Israel Defense Forces) จึงเป็นเรื่องน่าฉงนสงสัย ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ถึงการโจมตีครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

หรือพวกเขาเล็งเห็น แต่ล้มเหลวในการยับยั้ง

อิสราเอลถือเป็นประเทศที่มีหน่วยข่าวกรองที่ครอบคลุมและได้รับทุนสนับสนุนมากที่สุดในตะวันออกกลาง มีสายข่าวและสายลับฝังตัวอยู่ในปาเลสไตน์ เลบานอน ซีเรีย และอีกหลายพื้นที่

ในอดีต อิสราเอลลอบสังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธได้ในเวลาอันแม่นยำ เพราะทราบความเคลื่อนไหวของพวกเขาอย่างใกล้ชิด

บางครั้ง ก็ใช้โดรนโจมตี หลังเจ้าหน้าที่ลอบวางเครื่องติดตามจีพีเอสไว้ที่รถของบุคคลนั้น ๆ หรือบางครั้งก็จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ

บนภาคพื้นดินนั้น พรมแดนอันตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา ที่กลุ่มฮามาสปกครอง อิสราเอลติดตั้งกล้องเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และมีทหารหมั่นลาดตระเวนอย่างแน่นหนา

รั้วสูงที่เต็มไปด้วยลวดหนาม ถูกออกแบบเพื่อเป็น “แนวกั้นอัจฉริยะ” เพื่อป้องกันการแทรกซึม-ล่วงล้ำ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. ที่กลุ่มฮามาสใช้รถแทรกเตอร์พุ่งชน ใช้อุปกรณ์ตัดรั้วให้เป็นทางเข้า หรือไม่ก็ใช้ร่มร่อนบินข้ามไป และใช้เรือนั่งอ้อมไปขึ้นฝั่งอีกด้าน

การก่อเหตุโจมตีครั้งใหญ่และซับซ้อนเช่นนี้ กลุ่มฮามาสต้องสั่งสมอาวุธและจรวดหลายพันลูก รวมถึงเก็บความลับขั้นสูงในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นใต้จมูกของอิสราเอล

CG

จึงไม่น่าแปลกใจที่สื่ออิสราเอลจะตั้งคำถามต่อผู้นำทหารและผู้นำทางการเมืองของตนว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และยังเกิดในวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 50 ปีของสงครามระหว่างแนวร่วมอาหรับกับอิสราเอลที่เรียกว่า สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามตุลาคม (October War)

เจ้าหน้าที่อิสราเอลกล่าวกับบีบีซีว่า การสอบสวนครั้งใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ “จะดำเนินต่อไปอีกหลายปี”

แต่ขณะนี้อิสราเอลต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยจำเป็นต้องควบคุมและปราบปรามการแทรกซึมบริเวณชายแดนทางใต้ และขจัดกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่เข้ายึดครองชุมชนหลายแห่งตามแนวชายแดนฝั่งอิสราเอลให้ได้

นอกจากนี้ อิสราเอลต้องเร่งช่วยเหลือพลเรือนและทหารของตนที่ถูกจับเป็นตัวประกันกว่า 100 คน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใช้กำลังและใช้อาวุธเพื่อชิงตัวประกันคืน หรือด้วยวิธีการเจรจา

รวมถึงต้องพยายามทำลายฐานปล่อยจรวดทั้งหมดที่ยิงเข้าใส่อิสราเอล ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจรวดแบบเคลื่อนที่ของฮามาส สามารถปล่อยได้จากทุกที่ในเวลาไม่นาน

แต่บางที สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับอิสราเอลคือ จะหยุดฝ่ายต่าง ๆ ที่ส่งอาวุธให้ฮามาสได้อย่างไร และจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุรุนแรงลุกลามไปยังเขตเวสต์แบงก์ได้อย่างไร

เพราะนั่นอาจดึงดูดกลุ่มนักรบติดอาวุธหนักของฮิซบอลเลาะห์ ให้ข้ามพรมแดนทางตอนเหนือติดกับเลบานอน เข้ามาร่วมต่อสู้กับกลุ่มฮามาสก็เป็นได้


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *