MGR Online – “รองอธิบดีกรมพินิจฯ” แจงเด็ก 14 ยิงกราดในห้าง ถูกส่งตัวมาสถานพินิจฯ ตรวจสอบสภาพจิตใจ ร่วมกันวางแผนบำบัดฟื้นฟู หากขั้นรุนแรงต้องส่งต่อสถาบันกัลยาณ์
วันนี้ (5 ต.ค.) น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยกรณีสถานพินิจฯ รับตัวเด็ก 14 ปี กราดยิงในห้างดังกลางเมือง จากศาลเยาวชนและครอบครัวที่เห็นควรส่งตัวไปควบคุมไว้เพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจของผู้ต้องหา ให้ออกหมายควบคุมเว้นแต่มีประกัน เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) ว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ ทราบว่า บิดาของเด็กชายได้เดินทางมาส่งด้วย เพราะมีความเป็นห่วง ส่วนขั้นตอนการแรกรับ ทางสถานพินิจฯ ให้นักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ พ่อบ้านแรกรับหรือพ่อบ้านแห่งบ้านเมตตาจะร่วมกันพูดคุยสอบถามในเบื้องต้น รวมถึงประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นร่วมด้วย และเด็กชายจะได้รับการกักโรคโควิด-19 ก่อน 5 วัน ซึ่งระหว่างนี้ก็จะมีการประเมินเรื่องสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง และจะประสานปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หากแพทย์มีความเห็นว่าเด็กชายมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือแอดมิท (Admit) ก็จะมีการทำรายงานพร้อมแนบความเห็นแพทย์เสนอต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลรับทราบว่าจะมีการส่งต่อเด็กชายไปนอนพักเข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันกัลยาณ์ฯ แทน ซึ่งเป็นหลักปกติทั่วไปที่เด็กๆ รายใดมีอาการจิตเวชร่วมด้วยนั้น จะได้รับการส่งต่อดูแลโดยเเพทย์เฉพาะทาง
น.ส.ศิริประกาย เผยว่า ส่วนระยะการรักษาตัว หากมีการแอดมิท จะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากเด็กชายได้รับการประเมินสุขภาพจิตและพบว่าอยู่ในขั้นที่ไม่วิกฤติหรือน่าเป็นกังวล จิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็จะมีการร่วมกันกำหนดถึงกระบวนการรักษาหรือโปรแกรมต่างๆ หลังจากนี้ที่เด็กชายจะต้องเข้าร่วมระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเด็กชายก็จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ คนอื่นในบ้านเมตตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมและได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย
“นอกจากนี้ ระหว่างการควบคุมตัวเด็กชายที่บ้านเมตตา ทางเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ ก็จะต้องลงพื้นที่เพื่อสืบเสาะแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กชาย ทั้งประวัติส่วนตัว การศึกษา การใช้ชีวิต กิจกรรมที่ชอบทำ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว เพื่อเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้นั้น จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อศาลเยาวชนฯ สำหรับศาลใช้พิจารณาประกอบขั้นตอนต่างๆ ทั้งการอาจจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ หรือมีคำสั่งให้คุมประพฤติ หรือใช้วิธีการอื่นแทน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นอำนาจการพิจารณาของศาล กรมพินิจฯ เพียงทำหน้าที่ในการจัดทำรายงานประเมินข้อมูลทั้งเรื่องประวัติส่วนตัว สุขภาพกายและจิตใจ เสนอต่อศาลเยาวชนฯ”
น.ส.ศิริประกาย กล่าวอีกว่า จากการได้รับรายงานพบว่าวานนี้ หลังการรับตัวและประเมินสุขภาพเบื้องต้น เด็กชายไม่ค่อยพูดจา อาจเพราะเพิ่งได้เข้ามายังภายในสถานพินิจฯ ยังมีความไม่คุ้นชิน และตนยังไม่ได้รับแจ้งว่าเด็กชายได้แสดงความประสงค์ไม่อยากอยู่ที่นี่หรือเรียกร้องกลับบ้านแต่อย่างใด และไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร แต่แน่นอนว่า จะมีอาการวิตกกังวลบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องถูกแยก อาจกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่ยังไม่มีอาการร้องไห้ฟูมฟายหรือซึมเศร้าผิดปกติ อยู่ระหว่างการค่อยๆ ปรับตัว
ต่อข้อถามว่า ทางผู้ปกครองจะขอนำตัวเด็กชายไปรักษาตัวภายนอกกับแพทย์เองได้หรือไม่นั้น น.ส.ศิริประกาย กล่าวว่า ทางผู้ปกครองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งแจ้งกลับว่าอนุญาตหรือไม่ อย่างไร เพราะในส่วนของสถานพินิจฯ จะรับหน้าที่เป็นสถานที่สำหรับเด็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอของผู้ปกครอง ศาลจะมีเอกสารแจ้งมายังสถานพินิจฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลต่อไป และผู้ปกครองจะต้องเดินทางมายังสถานพินิจฯ เพื่อเซ็นเอกสารสำหรับการรับตัวเด็ก ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน และกระบวนการใดๆทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กชายหลังจากนี้ ศาลเยาวชนฯจะต้องรับทราบทุกเรื่อง เพราะเรื่องการตัดสินใจใดๆของผู้ปกครองที่มีผลต่อเด็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญ