สธ.ปรับนิยามรักษา “วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง” จ่อกักตัวผู้ป่วยใน รพ. 30 วัน


สธ.ปรับนิยามรักษา ‘วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง’ จ่อกักตัวผู้ป่วยใน รพ. 30 วัน

วันนี้ (25 ตุลาคม) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. … ตามที่ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยาระดับประเทศเห็นชอบให้ปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่าสำหรับนิยามวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงนั้น เดิมกำหนดไว้คือ การดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน เป็นยากิน 3 ตัว และยาฉีด 1 ตัว ปัจจุบันเลิกใช้ยาฉีดแล้ว และมีการปรับมาใช้ยากินตัวใหม่ ซึ่งมีความกังวลว่า หากมีการดื้อยาตัวใหม่ก็จะกลายเป็นเชื้อวัณโรคที่รักษายาก ดังนั้น จึงมีการปรับวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มยาตัวเก่าและตัวใหม่ เพื่อหากพบจะถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย สามารถกักตัวเพื่อรักษา และควบคุมไม่ให้เชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงนี้กระจายออกไปทำให้คนอื่นป่วยวัณโรคดื้อยาไปด้วย

“การรักษาจะมีขั้นตอนในการดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมและติดตามการรักษาให้กินยาจนครบโดส เพราะหากไม่กักตัวไว้รักษา เราจะไม่ทราบว่าผู้ป่วยกินยาครบหรือไม่ ยิ่งกินยาไม่ครบ ก็ยิ่งทำให้เชื้อดื้อยา ส่วนใหญ่วัณโรคดื้อยารุนแรงจะอยู่ในโรงพยาบาล 30 วัน จนมั่นใจว่าเชื้อตาย ได้กินยาอย่างสม่ำเสมอ และอาจเสริมตัวอื่นเข้าไปเพื่อฆ่าเชื้อด้วย” นายธงชัยกล่าว และว่า ส่วนใหญ่พบวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยและบริเวณขอบชายแดน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่ระบบการรักษาอาจไม่ต่อเนื่องเพียงพอ ผู้ป่วยกินยาบ้าง ไม่กินยาบ้าง ทำให้เชื้อพัฒนาจนดื้อต่อยา การประกาศวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง ทำให้สามารถกักตัวผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มาจากต่างประเทศให้เข้าระบบรักษาได้ ถ้าไม่เป็นโรคอันตรายก็จะกักตัวให้รักษาไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับวัณโรคดื้อยาเพื่อให้สอดรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวัณโรคที่ไทยยังไม่ผ่านตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าเจอเชื้อดื้อยามาก โอกาสรักษาก็ลำบาก

“วันนี้ยังเจอผู้ป่วยวัณโรคปีละเป็นแสนคน ถือว่าเยอะพอสมควร ต้องรีบรณรงค์ค้นหาในเรือนจำ ผู้ป่วยเอชไอวี เบาหวาน ความดัน เพราะวัณโรคไม่ใช่ได้เชื้อแล้วจะแสดงอาการทันที ไอเป็นเลือดเลย แต่อาจอยู่เป็นเดือน เป็นปี ถึงจะแสดงอาการ ซึ่งรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็กระตุ้นในเรื่องนี้ ที่ยังไม่ผ่านตัวชี้วัด SDGs ทั้งนี้ เดิมเรามีการคัดกรองวัณโรคมากอยู่แล้ว แต่เราจะเพิ่มการคัดกรองและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมากยิ่งขึ้น เช่น ในเรือนจำ อาจจะตรวจคัดกรองถี่ขึ้น แทนที่ไปปีละครั้งก็เป็น 2 ครั้ง จัดระบบการตรวจมากขึ้น เมื่อก่อนตรวจเสมหะเอามาย้อมเชื้อ เราอาจจะเริ่มเอาเทคโนโลยีที่มีความเร็วมาใช้มากขึ้น เช่น เอกซเรย์เสร็จ สงสัยวัณโรค ก็ทำ Gene Xpert หรือ TB-Lamp ในการตรวจเพื่อให้รู้ผลทันที การตรวจมากขึ้น อาจเจอผู้ป่วยมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดี จะได้รักษาเร็ว ถ้าไม่เจอ แล้วไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน จะควบคุมไม่ได้ ยาและระบบการรักษาเรามีเตรียมพร้อมรองรับ” นพ.ธงชัยกล่าว

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image

matichon


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *