Key Point :
- การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลง
- หนึ่งในความท้าทาย คือ ระบบสุขภาพ ที่ต้องสามารถรองรับทั้งความเจ็บป่วยของประชาชน และนวัตกรรมการรักษา ไม่ว่าจะเทคโนโลยี หรือยา
- การที่จะสร้างระบบสุขภาพของไทยให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และ เอกชน ในการร่วมสร้างความมั่นคงระบบสาธารณสุขของไทย
ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยราว 4% ของ GDP ขณะที่ ระบบสุขภาพของไทยยังคงพึ่งภาครัฐเป็นหลักกว่า 90% อีกทั้ง การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและเทคโนโลยีทางการแพทย์ การรักษา ยานวัตกรรม ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กับงบประมาณที่มีจำกัด เป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพตามสิทธิ หรือ การรับบริการจากบริษัทประกันสุขภาพจากภาคเอกชน
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โรช ไทยแลนด์ ร่วมมือกับ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และกลุ่มผู้ป่วย จัดงานประชุมสัมมนา หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกันแบบไหนสำหรับคนไทยที่ถูกใจและยั่งยืน” พร้อมด้วยการเสวนา ชี้ชัดปัญหาประกันสุขภาพของคนไทย พูดคุยแลกเปลี่ยนความต้องการเชิงสร้างสรรค์ และร่วมหาทางออกระบบสุขภาพของคนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของคนไทยในปัจจุบันและอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ
‘รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ’ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้เด็กเกิดในประเทศไทยมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของการเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน จำนวนประชากรไทยโดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในปี 2565 ไทยมีประชากร 66.1 ล้านคน ปี 2572 คาดจะอยู่ที่ 67.2 ล้านคน เนื่องจากประชากรที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาจัดสรรเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย
ปัจจุบันยังพบปัญหา ของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการรักษา ความสะดวก รวดเร็ว หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบประกันสุขภาพหลักยังไม่ครอบคลุมนวัตกรรมการรักษาต่างๆ
“ปี 2570 คาดว่า ทั้ง 3 ระบบ ดูแลประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นสิทธิบัตรทอง 12.62 ล้านคน สิทธิประกันสังคม 0.29 ล้านคน และสิทธิข้าราชการ 2.21 ล้านคน รวมทั้งสิ้นราว 15.12 ล้านคน มีการประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นถึงราว 5.88 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรเตรียมความพร้อม”
นวัตกรรมที่ให้บริการเพิ่มขึ้นขณะที่เงินสมทบเท่าเดิม
‘ปาริฉัตร จันทร์อำไพ’ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม เผยว่า ณ ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพ ราว 50,000 ล้านบาทต่อผู้ประกันตน 13 ล้านคน หรือ 5,000 บาทต่อคน ในขณะที่สัดส่วนเงินสมทบ จะอยู่ที่ร้อยละ 5 เพดานของเงินเดือน สูงสุด 15,000 บาท หรือ สมทบ 750 บาท เป็นกองทุนที่มาจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนของการเจ็บป่วย ร้อยละ 1.06 จาก 750 บาท หรือคิดเป็นส่วนของการประกันสุขภาพ 159 บาทต่อเดือน หนึ่งปีราว 1,900 บาท ต่อคน
ซึ่งดูแลครอบคลุมจนสิ้นสุดการรักษาไม่ว่าจะผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการส่งเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกัน ผู้ประกันตนมีอายุเพิ่มสูงขึ้น การเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้สิทธิบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
คอนเซปต์ของประกันสังคม คือ ต้องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ทำอย่างไรให้ผู้ประกันตน เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอผ่าตัดที่โรงพยาบาลตามสิทธินาน 2-3 เดือน จึงเกิดโครงการรักษา 5 โรค ได้แก่ หัตถการโรคหัวใจ ทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน , การผ่าตัดหัตถการหลอดเลือดสมอง , การผ่าตัดก้อนเนื้อมดลูก , ผ่าตัดก้อนเต้านมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยนิ่วในไต โดย MOU ร่วมกับ รพ.ทั้งรัฐและเอกชน ว่าจะต้องเข้าถึงบริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดย รพ.ตามสิทธิส่งตัวมา เพื่อให้เข้าถึงหัตถการได้เร็วขึ้น และให้ รพ.ที่ทำ MOU ดูแลต่อ นอกจากนี้ ผู้ประกันตนบางคนใช้ประกันสุขภาพตัวเอง ตรงนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ ระยะเวลาโครงการถึงสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ และจะมีการศึกษาต่อยอดต่อไป
ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนา ประกันสังคมมีคณะกรรมการการแพทย์ ที่ดูเรื่องของนวัตกรรม แต่งตั้งอนุกรรมการนวัตกรรมเพื่อศึกษาในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ กระตุ้นให้โรงพยาบาลนำเทคโนโลยี ที่เป็นที่ยอมรับมาใช้ โดยใช้รูปแบบของการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์มาจูงใจให้กับสถานพยาบาล เช่น กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการล้างไตแบบออโตเมติก หรือ การผ่าตัดส่องกล้อง แพกเกจหัตถการโรคหัวใจ ผู้ประกันตนสามารถไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ ที่ได้รับการผ่าตัดในแพกเกจที่กำหนด
พัฒนาสู่ประกันสุขภาพแบบมีการจัดการ (Managed care)
“รชตะ อุ่นสุข” ผู้อำนวยการ กลุ่มงานกฎหมายด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปัจจุบัน สิทธิข้าราชการ คุ้มครองเรื่องการเจ็บป่วย บาดเจ็บและการป่วย รักษาพยาบาลทุกอย่าง สัดส่วนการใช้สิทธิแต่ละปีราว 4.7 ล้านคน ผู้ป่วยนอกรับบริการ 28 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 7 แสนครั้งต่อปี 50% ของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด จ่ายไปที่ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี สิ่งที่เป็นช่องว่างจริงๆ คือ เทคโนโลยีที่มีใช้ในต่างประเทศและมีการนำเข้ามา หากโรงพยาบาลต้องการใช้เทคโนโลยีจะทำอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องนั่งคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าถึง
“ยุทธศาสตร์แห่งอนาคตที่ดี ภาครัฐไม่สามารถเดินคนเดียวได้ หากจะทำให้เกิดความยั่งยืนมีทางเดียว คือ ทำให้ภาครัฐ กับเอกชนเดินไปพร้อมกัน ต้องร่วมมือกัน ผู้ป่วยบางคนมีความต้องการใช้ประกันสุขภาพในรพ.รัฐ เอกชน มองว่าหากสามารถทำให้ภาครัฐ ร่วมกับประกันสุขภาพของภาคเอกชนได้ จะทำให้คนไข้มีความสบายใจมากขึ้น ซึ่งต้องมีการพูดคุยระหว่างบริษัทประกัน สมาคม หน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแล สิ่งที่อยากจะเห็น คือ ความก้าวหน้าระบบประกันที่สูงขึ้น จากระบบประกันสินไหม ให้เป็น Managed care มากขึ้นเหมือนในต่างประเทศ หากตั้งเป้าวิธีคิดแบบนี้ได้จะทำให้ระบบสุขภาพไปได้ไกล แบบก้าวกระโดด” รชตะ กล่าว
เตรียมตัวรับมือความเจ็บป่วยที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ
‘นพ.วุฒิวงศ์ สมบุญเรืองศรี’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และอีกไม่นาน จะก้าวไปสู่ Super Ageing Society หากมองที่ประเทศญี่ปุ่น คนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป มีการออมเงินเพื่อดูแลตัวเองยามเกษียณ แต่เราสุขภาพการออมการเงิน อาจจะยังไม่พร้อม ค่าเฉลี่ยของเงินในบัญชีคนไทยราว 4,000 บาท ทำอย่างไรให้มีการออมเงิน
“ขณะเดียวกัน การแพทย์ในปัจจุบันดีขึ้น คนอายุยืนมากขึ้น ตามมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ จากข้อมูลการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) พบว่า ผู้ป่วยสูงวัยมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพต้องมีการเตรียมตัว เพื่อดูแลตัวเองในอนาคต”
ปัจจุบันประกันในภาคเอกชน มีการขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น รพ.คู่สัญญา ที่เป็นภาครัฐมากขึ้น ประชาชนที่ถือประกันสุขภาพเอกชน สามารถเข้าไปรับการรักษาพยาบาลที่ รพ.รัฐได้หลายแห่ง โดยที่ไม่ต้องสำรองจ่าย เช่น รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาฯ รพ.ราชวิถี และแนวโน้มที่จะเปิดใน รพ.ต่างจังหวัดมากขึ้น มีการเชื่อมระบบ โดย กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ในเชื่อมระบบเครือข่ายในการเรียกร้องสินไหมระหว่างประกันและ รพ. รัฐบาล ด้วย
โรช ไทยแลนด์ ในฐานะบริษัทผู้วิจัย คิดค้น นวัตกรรมด้านสุขภาพ มีวิสัยทัศน์ที่อยากจะเห็นประชาชนคนไทยเข้าถึงการรักษาที่ดี เข้าถึงยานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการรักษาได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงเสริมสร้างระบบประกันสุขภาพที่ยั่งยืน จากการร่วมมือของทุกภาคส่วน
การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะเห็นภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สู่ทิศทางในการเชื่อมโยงระบบประกันสุขภาพของทั้งสองภาคส่วน ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เกิดความยั่งยืนที่แท้จริงของระบบงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศต่อไป