สวนเกษตรในบ้าน แห่งนี้ คือ Soontaree life & farm คาเฟ่ที่เปิดตามฤดูกาล ในบางคราก็เปลี่ยนเป็น flea Market เป็นที่ตั้งสำนักงานออกแบบ Soontaree+
แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ตรงนี้จะถูกเรียกว่า “บ้าน” ของคุณวาว-วาสิฏฐี ลาธุลี และ คุณเล็ก-จักรพันธุ์ บุษสาย และน้องแสงตะวัน ลูกชายวัยขวบเศษที่กำลังเริ่มเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับใช้ชีวิตร่วมกัน
“ทำอย่างไรให้ได้อยู่บ้านด้วยกัน คำตอบที่ได้คือต้องแต่งงาน” คำสารภาพของคุณเล็กที่บอกถึงจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ และมี สวนเกษตรในบ้าน รวมอยู่ด้วย แต่มีเหตุผลสำคัญที่เป็นจุดตั้งต้นที่แท้จริงคือ แมว ความต้องการที่อยากมีบ้านเพื่อกั้นรั้วให้แมวได้อยู่อย่างปลอดภัย บนที่ดิน 300 ตารางวา กับทำเลที่อยู่ไม่ไกลจากถนนมิตรภาพ ห่างตัวเมืองอุดร แต่ไม่ไกลความเจริญ และมีอ่างเก็บน้ำอยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่อยากจะมีท่าเรืออยู่ติดบ้านด้วย
นานาสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยง ใน สวนเกษตรในบ้าน
“เหมือนชีวิตเราทั้งคู่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงตลอด พอจะมีบ้านเราก็นั่งลิสต์กันเลยครับว่าจะเลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง ตอนแรกจะมีแพะด้วย หาข้อมูลสายพันธุ์กันจริงจังมาก แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะคิดว่าถ้ามีแพะต้นไม้ในสวนคงกลายเป็นอาหารของพวกมันไปหมด”คุณเล็กเล่า
เล้าไก่คืออาคารหลังแรกที่เริ่มสร้างให้สัตว์เลี้ยง โดยกั้นพื้นที่ขนาด 10 x 10 เมตรแบ่งเป็น 2 โซนหลักๆ คือโซนด้านในสำหรับให้อาหาร ออกไข่ และนอน กั้นรั้วและสร้างอาคารให้เกิดความปลอดภัย อีกโซนเป็นด้านนอก กั้นด้วยรั้วเตี้ยอีกชั้นเป็นมุมปลูกต้นไม้ที่เป็นอาหารสัตว์ ทำหมักปุ๋ยจากขี้แกลบไก่ เก็บอุปกรณ์บางอย่าง และให้สัตว์ต่างๆ ได้คุ้ยเขี่ยพื้นดิน
สถาปนิกนัก Reuse
บ้านกระต่ายพันธุ์ Mini Rex เป็นส่วนหนึ่งของสวนอยู่ในตำแหน่งหน้าบ้าน เช่นเดียวกับคอกสุนัข ที่มีน้องหมาพันธุ์นอนเล่นอย่างเพลิดเพลินใจ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือวัสดุที่นำมาสร้างบ้านให้กับสัตว์ต่างๆ นั้นล้วนทำมาจากไม้เก่าทั้งสิ้น
“งานสถาปัตย์ที่เราทำอยู่ บางทีเรารู้สึกว่าเราสร้างขยะครับ ปกติผมเป็นคนชอบ Up cycling อยู่แล้ว หลายๆ อย่างใช้แล้วใช้อีก อย่างน้ำที่ใช้เสร็จก็นำไปรดน้ำต้นไม้ เล้าไก่ บ้านกระต่าย บ้านหมา ก็ทำจากไม้เก่าที่รื้อมาอีกที ในงานออกแบบเราจะมองเรื่องความสวยงามและการใช้งานเป็นหลัก แต่พอมาทำของตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าการออกแบบต้องเนี้ยบต้องสวย แต่จะใช้ความรู้สึกทำสิ่งนั้นๆ เป็นไปตามฟิล”
พรรณไม้ที่เปลี่ยนไปทุกฤดูกาล
“การปลูกจะเป็นหน้าที่ของวาวค่ะ รูปแบบการจัดวางจะเลียนแบบธรรมชาติ และทำตามความชอบ ไม่ได้กำหนดฟิลของสวนว่าจะต้องเป็นสไตล์ไหน แต่จะจัดสวนเหมือนจัดดอกไม้ เราก็จะดูว่าใช้โทนสีแบบไหน จัดเป็นพุ่มแบบไหน ฟิลมันจะฟุ้งๆ ไหม ก็จะจัดเป็นภาพใหญ่ๆ แล้วค่อยหยิบต้นนั้นใส่ต้นนี้ใส่ ชนิดนี้อยู่ไม่ได้ก็เอาออกมา หรือลองใส่ชนิดอื่นเข้าไป พอหมดฤดูของเขาต้นก็จะเริ่มโทรมหรือตายก็จะดึงออก แล้วเปลี่ยนต้นอื่นใส่เข้าไป ถ้ามาช่วงฤดูฝนก็จะเป็นสวนอีกแบบ แต่ตอนนี้เป็นหน้าหนาวดอกไม้เขาจะเติบโตได้ดี ”
ไม่ใช่แค่พรรณไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดู แต่แปลนการจัดวางก็ปรับไปเปลี่ยนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนินดิน 2 ลูกที่ตั้งใจให้เป็นภูเขาสำหรับน้องแสงตะวัน หรือแปลงผักที่เปลี่ยนตำแหน่งจากกลางสวนไปอยู่ฝั่งซ้ายในทิศตะวันออก วางเป็นแนวขวางตะวันทำให้ได้รับแสงตลอดทั้งวัน
ดินปลูกที่มีปุ๋ยหมักจากในบ้าน
“ดินปลูกเราผลิตเองเลยค่ะ บ้านเราแยกขยะกันเป็นกิจวัตร พวกเศษขยะเศษอาหาร เปลือกผลไม้ กระดาษ เปลือกไข่ กระดาษทิชชู เราจะทิ้งในบ่อหมัก ทุกครั้งที่เศษอาหารลงไปก็จะใช้ขี้วัวเทกลบลงไปด้วย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ถ้าไม่กลบ แมลงวันก็มา ขี้วัวมีประโยชน์ในการช่วยย่อยด้วย ในมุมหลังบ้านจะมีบ่อหมัก 2 บ่อ ใช้สลับกันไปมา”
นอกจากเศษอาหารจากครัวเรือน อีกมุมในการผลิตปุ๋ยหมักคือส่วนของเล้าไก่ที่จะมีขี้แกลบไก่ให้กวาดทิ้งเป็นการทำความสะอาดเล้า โดยหมักขี้แกลบไก่เป็นกองรวมกันหมักทิ้งไว้ก่อน แล้วใช้เป็นส่วนผสมในการปลูกต้นไม้ในสวน
ทั้งหมดเพื่อการเรียนรู้อะไรบางอย่าง
“ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สวน คาเฟ่ สร้างแบรนด์สินค้า หรืออาชีพสถาปนิก เราต่างทำเพื่อให้เรียนรู้บางอย่าง เมื่อทำได้แล้วมันก็จบแล้ว เห็นผลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร อย่างคาเฟ่เราก็ได้รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น การทำแบรนด์ให้มาถึงจุดเลี้ยงตัวมันเองได้ คือเราต้องลองทำก่อน ใครมันจะตอบได้ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่สิ่งที่เราทำสร้างตอนนี้เกิดจากจากสิ่งที่เรามี เราไม่ได้ลงทุนใดๆ นอกจากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ครับ” คุณเล็กกล่าวทิ้งท้าย
อ่านบทบันทึกของสวนนี้ฉบับเต็มในหนังสือ Farm House สวนเกษตรในบ้าน >>https://bit.ly/3QD2WU6
เรื่อง JOMM YB
ภาพ รักอิสระ มุกดาม่วง