แม้ใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่ขอรู้วิธีป้องกันไว้ย่อมสบายใจกว่า
อย่างแรกที่นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ เน้นย้ำให้ประชาชนคำนึงเป็นอันดับแรก ๆ เลยคือ เรื่องการรักษาความสะอาด ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำกับข้าว ล้างจาน ออกไปเก็บพืชผักสวนครัว ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อซัลโมเนลลาที่อาจส่งมาถึงเราผ่านอุจจาระหรือฉี่ของอีกัวนาเขียวโดยที่เราไม่ทันได้ระวังตัว
อย่างที่สองคือ เรื่องการประกอบอาหาร หากประชาชนครัวเรือนไหนที่ต้องออกไปหาวัตถุดิบ หรือซื้อข้าวของมาประกอบอาหารรับประทานให้ล้างให้สะอาดเข้าไว้ แต่ในขั้นตอนนี้ นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง หากเราปรุงอาหารให้สุก เท่านี้ก็ปลอดภัยจากเชื้อซัลโมเนลลาแล้ว
อย่างที่เรียนไว้ด้านบน เชื้อซัลโมเนลลาจะเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิตั้งแต่ 28°c เรื่อยไปจนถึง 70°c เมื่อโดนความร้อนจากไฟที่อุณหภูมิสูง ๆ เชื้อดังกล่าวก็จะหายไปเอง หรืออีกวิธีคือ ให้นำวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารหรือเตรียมประกอบอาหารแช่ฟรีซเอาไว้ อุณหภูมิต่ำเกินไปเชื้อซัลโมเนลลาก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน
ส่วนคำถามที่ว่า อีกัวนาเขียวซึ่งอาจมีเชื้อซัลโมเนลลาอยู่ หากจะนำมาทำกินเพื่อกำจัดปริมาณการแพร่พันธุ์เพิ่มอีกแรงจะเป็นอะไรไหม นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การกินเนื้ออีกัวนาเขียวตรง ๆ เลยก็ ‘ไม่เป็นอันตราย’ เช่นกัน หากถูกปรุงสุกเรียบร้อย
แม้หน้าจะโหด แต่อยู่ในโหมดกินพืช
นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ ชำแหละข้อเท็จจริงที่ว่า ‘อีกัวนาเขียว’ สามารถกัดนิ้วคนขาดได้จริงหรือไม่นั้น? ไม่เป็นความจริง
สัตว์เลื้อยคลานไซส์ใหญ่อย่างอีกัวนาเขียว ต่อให้กัดยังไงก็กัดไม่ขาด คำว่านิ้วขาด ฟันของสัตว์ต่างถิ่นผู้นี้ต้องผ่ากระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อของนิ้วเราออกไปด้วย
แต่สำหรับผู้ที่ถูกกัด อาจเกิดรอยแผลจนต้องไปเย็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะฟันของอีกัวนาเขียวมีลักษณะเหมือนใบเลื่อย
หากเราคิดลงลึกไปอีกชั้น ทำไมจู่ ๆ ถึงมีคนถูกอีกัวนาเขียว ที่เป็นสัตว์กินพืชที่รักสันโดษเสียนี่กะไรกัดได้นะ?
นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อธิบายถึงธรรมชาติของอีกัวนาเขียวเพิ่มว่า หากเรานั่งอยู่ที่บ้านของเราเฉย ๆ เราจะไม่มีทางถูก อีกัวนาเขียวกัดแน่ ๆ เพราะอีกัวนาเขียวคือสัตว์กินพืช หมายความว่ามันไม่มีสัญชาตญาณของผู้ล่า
แม้ในวัยเยาว์จะมีกินแมลงตัวเล็ก ๆ บ้างเพื่อต้องการเสริมโปรตีน แต่พอเติบโตเป็นหนุ่มสะพรั่ง ก็หันมากินพืชแบบเต็มตัว ทำให้ส่งผลต่อเนื่องถึงเรื่องการใช้ชีวิตอีกัวนาเขียว มันจะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เดินช้า ๆ ทำอะไรช้า ๆ เพราะพลังงานไม่ได้เยอะเนื่องจากกินอาหารสีเขียวเป็นหลัก
แต่เมื่อไหร่ที่รับรู้ได้ถึงภัยอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาถึงตัว มันจะสับแหละ วิ่งหนีแบบไม่คิดชีวิต และ ‘วิ่งเร็วมาก’
ฉะนั้น หากเราจู่ ๆ ไม่ไปจับ ตอแย บังคับให้มันทำนู่นทำนี่ หรือไปทำให้อิกัวนาเขียวรับรู้ได้ว่า ตัวมันเองกำลังสูญเสียอิสรภาพที่ตัวเองถือครองอยู่ มันก็จะขัดขืนและหนีทันที
ลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเงินตัวทองแบบที่เราเคยเห็น สัตว์เลื้อยคลานจำพวก Reptile หรือ Wizard ที่มี 4 ขา มีหางยาว มักจะไม่เข้าใกล้มนุษย์โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
นายสัตว์แพทย์ ทวีศักดิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า หากพินิจกันดี ๆ อีกัวนาสีเขียวน่ากลัวน้อยกว่าหมา แมวเสียอีก ภายใต้วงเล็บว่าหากเราไปบังคับอะไรมัน สัตว์อย่างหมาแมว แม้เจ้าของจะรัก เลี้ยงดูประคบประหงมมาดีแค่ไหน แต่เมื่อไปบังคับก็อาจจะโดน ‘งับ’ เข้าให้
ล่าสุด ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มีอีกัวนาเขียวไว้ในครอบครอง ให้ลงทะเบียนแจ้งจำนวนที่ครอบครอง เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุมจัดการประชากรอิกัวน่าเขียว ผ่านทางช่องทาง QR Code หรือ ลิงค์ https://shorturl.asia/cx3Ig
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา หรือโทร. 0 2561 0777 ต่อ 2912
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เนื้อหาที่น่าสนใจ