“สันติ” พร้อมให้ สธ.ช้อปปิ้ง “นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ” สสส.ชูเบาะลดแผลกดทับพ่วงระบบแจ้งเตือน คว้าชนะเลิศเวทีนายกฯ



“สันติ” ลั่น สธ.พร้อมช้อปปิ้งผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จากเวทีประกวดรางวัลนายกฯ หากผ่านทดลองได้ผลเต็มที่ ให้ รพ.-ครัวเรือนนำไปใช้ ตอบโจทย์ปัญหาโรคจากพฤติกรรม สสส.เผยปีนี้ประกวดกว่า 250 ทีม ชูเบาะลดแผลกดทับพร้อมระบบแจ้งเตือน – แพลตฟอร์มกะพริบตาคนติดเตียง ช่วยสื่อสารคนดูแล จัดการชีวิตประจำวันได้ คว้ารางวัลชนะเลิศ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัลการประกวด “Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023” เพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานพลังเครือข่ายกลุ่มคนทำงานด้านนวัตกรรม สร้างนวัตกร หัวใจสุขภาวะ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานมอบรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทมัธยมปลาย ทีม Blue Blood Team โรงเรียนตากพิทยาคม ผลงาน Safety Town บอร์ดเกมสร้างความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน , รางวัลชนะเลิศ ประเภทอาชีวศึกษา (ปวช.หรือเทียบเท่า) ทีม New Poly Team V.2 วิทยาลัยเทคโนโลยีโพลีเทคนิคลานนา เชียงใหม่ ผลงานบอร์ดเกม “No Suffer” อย่ารอเก้อ ให้ใครมาบูลลี่ , รางวัลชนะเลิศ ประเภท ประชาชนทั่วไป สตาร์ทอัป กลุ่มไอเดียนวัตกรรม ทีม AiHUB ผลงาน AiHelp แพลตฟอร์มกะพริบตาของคนติดเตียง เพื่อสื่อสารกับผู้ดูแล และรางวัลชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไปและสตาร์ทอัป กลุ่มต้นแบบนวัตกรรม ทีม CONCAVOO cushion ผลงาน เบาะแบบปรับเข้ากับโครงร่างพร้อมระบบเตือนเพื่อลดแรงกด


นายสันติ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยใส่ใจด้านสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด และเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และมุมมองด้านสุขภาพของผู้คนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือการดูแลสุขภาพใจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็นหนึ่งในกลไกที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทำให้สังคมตระหนัก อย่ารอให้ร่างกายเสียแล้วค่อยมาซ่อมสุขภาพ แต่มาสร้างสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อป้องกันโรค ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดการสูญเสียของประเทศ ซึ่งการประกวดนี้ได้รับความกรุณาจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นรางวัลระดับชาติเป็นปีที่ 3 นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพของทุกทีม ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักคิด กลุ่ม Startup และกลุ่มภาคี สสส. ตอบโจทย์ตรงประเด็นสุขภาพคนไทย ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มโรค NCDs


“ปีนี้กลุ่มประชาชนทั่วไป/Startup ผลักดันไอเดีย และต้นแบบนวัตกรรม การเข้าถึงเทคโนโลยีการสร้างเสริมสุขภาพ สำหรับกลุ่มผู้ขาดโอกาสการเข้าถึง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ แรงงานนอกระบบ เป็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ พัฒนาศักยภาพคนที่จะเป็นนวัตกร สนับสนุนและสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ สร้างเครือข่ายกลุ่มคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพ เป็นโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่ระดับนานาชาติในอนาคต” นายสันติ กล่าว


รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุน สสส. และ ประธานอำนวยการจัดประกวดฯ กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน รวมถึงพฤติกรรมให้มีสุขภาวะครบ 4 มิติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 10 ปีของ สสส. ในเรื่อง “การสนับสนุนงานวิชาการ และรังสรรค์นวัตกรรม” ผ่านการดำเนินโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยการประกวดฯ ครั้งนี้ เพื่อจุดประกายนวัตกร สร้างนวัตกรรม เพิ่มทักษะความรู้ ต่อยอดผลงานให้เกิดขึ้นจริง โดยมีนวัตกรเข้าร่วม 250 ทีม ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพตลอด 4 เดือน เช่น การสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างความเข้าใจความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ กระบวนการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาแผนธุรกิจ ต่อยอดผลงาน และแนวทางสร้างความยั่งยืน โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้คำปรึกษาตลอดกิจกรรม เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา startup และ ภาคี สสส. ที่ได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในอนาคตได้อย่างแน่นอน


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยหลายด้าน มุ่งเน้นแก้ไขต้นเหตุ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ “นวัตกรรม” โดยเริ่มจากโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชื่อ ‘ThaiHealth Inno Awards’ ตั้งแต่ปี 2560 สู่การยกระดับเป็นรางวัลระดับชาติ ตลอดระยะเวลา 6 ปี มีทีมส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศ จำนวน 1,484 ทีม เพาะเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่ เกือบ 6,000 คน บ่มเพาะแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ ทักษะพัฒนานวัตกรรม และการต่อยอดขยายผลงาน พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกว่า 170 ผลงาน การก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของ สสส. จึงเป็นหมุดหมายที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานให้ตอบโจทย์กับปัญหาสุขภาพยุคปัจจุบันยิ่งขึ้น ในรูปแบบการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ปัญหาที่ต้องเผชิญ สานพลังภาคีหานวัตกรรมใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าให้สังคมไทยในอนาคต


ถามว่าตลอด 3 ปีที่เป็นรางวัลระดับชาติมีผลงานที่ต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงมากน้อยแค่ไหน สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศมากน้อยเท่าใด รศ.นพ.สรนิตกล่าวว่า มีหลายผลงานที่ได้รับการต่อยอด อย่างเครื่องฆ่าเชื้อหมวกกันน็อกโอโซน กทม.ก็เอาไปทำเป็นกล่องให้มอเตอร์ไซค์รับจ้งไปตั้งทีวิน แล้วเอาหมวกกันน็อกไปทำความสะอาด หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ก็เอาไปใช้ได้จริง เป็นต้น อย่างที่ประกวดปีนี้แผ่นรองป้องกันแผลกดทับก็เป็นที่ต้องการมาก เราน่าจะต่อยอดได้เลย ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ถือว่ามีส่วนช่วยในด้านเศรษฐกิจได้ ส่วนมูลค่าเท่าไรนั้นมีการประเมินเอาไว้อยู่

ถามต่อว่า สธ.จะมีการช้อปปิ้งนวัตกรรมไปใช้ใน รพ.หรือเอาไปใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างเสริมสุขภาพหรือไม่ นายสันติกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น หากนวัตกรรมที่สามารถจะพัฒนาจนกระทั่งไปใช้ได้จริงแล้ว ก็จะมีอุตสาหกรรม มีนักลงทุนนำไปเพื่อผลิต อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะ สธ.ถ้ามีการผลิตรับรองนวัตกรรมเหล่านี้ สธ.พร้อมที่จะส่งเสริมให้ รพ.ต่างๆ หรือกระทั่งครัวเรือนนำไปใช้ได้ อย่างเบาะรถเข็นลดแผลกดทับ หากเป็นนวัตกรรมที่ได้ผลเต็ม 100% ได้รับการทดลองแล้ว ก็กระจายขายไปทั่วโลกได้


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *