เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ครั้งที่ 80 ประจำปี 2023 นี้ มีหนังในสายประกวดหลักเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ นั่นคือ 23 เรื่อง ซึ่งแม้แต่หนังที่ไม่ได้รับรางวัลใด ๆ จากเทศกาล ก็ยังคงมีความน่าสนใจ และหลาย ๆ เรื่องก็อาจจะกลายเป็น ‘ตัวเต็ง’ สำหรับรางวัลออสการ์สาขาต่าง ๆ ในช่วงต้นปีหน้าอีกด้วย
สำหรับหนังของผู้กำกับอิตาเลียนเจ้าบ้านที่ยังไม่ได้กล่าวถึงไป ก็ยังมีเรื่อง Adagio ของผู้กำกับ Stefano Sollima ที่มาในรูปแบบของหนัง mafia-gangster ร่วมสมัย เล่าเรื่องราวผ่านสายตาของ Manuel เด็กหนุ่มวัยเพียง 16 ปีที่ต้องดูแลพ่อที่กำลังป่วยด้วยโรคชรา
วันหนึ่งเขาได้ไปเห็นเหตุการณ์บางอย่างของแก๊งมาเฟียท้องถิ่นจนเป็นฝ่ายถูกตามล่า ทั้งยังถูก blackmail ในข้อหาค้าประเวณียอมใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้ชายเกย์เพื่อแลกกับเงิน! Manuel ไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร สุดท้ายเขาก็ต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหายเก่าของบิดา ซึ่งเคยเป็นเจ้าพ่อมาเฟียอีกตระกูลหนึ่ง!
หนังเรื่องนี้ให้บรรยากาศแบบร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ โดยใช้ดนตรี hip-hop และภาพบรรยากาศยามค่ำคืนของกรุงโรมมาเป็นสีสัน พร้อมสร้างความหวาดหวั่นว่าเหล่ามาเฟียจะยังครองเมืองอยู่ต่อไปไม่ว่าจะในสังคม generation ไหนของอิตาลี!
ในขณะที่เรื่อง Enea ของผู้กำกับ Pietro Castellitto ก็เล่าเรื่องราวของเหล่าผู้มีอำนาจในเมืองใหญ่เช่นกัน แต่สร้างสีสันด้วยการแสดงภาพชีวิตอันหรูหราฟู่ฟ่าแบบ The Great Gatsby ของลูกเศรษฐีนาม Enea ผู้เปิดร้าน ‘ซูชิ’ ไว้บังหน้า แต่เบื้องหลังแล้วแอบค้ายา
หนังอุดมไปด้วยลูกบ้าของมุกตลกห่าม ๆ จนเหมือนจะเน้นความไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ในชีวิตของเหล่าพวกคนรวย แถมด้วยอารมณ์แบบเควียร์ ๆ ระหว่างพระเอกกับเพื่อนพระเอกที่ดูจบแล้วก็อาจจะยังฟันธงอะไรไม่ได้ว่า พวกเขามีรสนิยมทางเพศเป็นแบบไหนกันแน่!
หนังอิตาเลียนเรื่องสุดท้าย ซึ่งจริง ๆ เป็นหนังร่วมทุนระหว่าง อิตาลี-สวิตเซอร์แลนด์ คือเรื่อง Lubo ของผู้กำกับ Giorgio Diritti เล่าเรื่องราวย้อนยุคที่เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ Lubo ชายพเนจรแต่มีครอบครัวแล้ว ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารไปร่วมรบ
ระหว่างที่เขาไม่อยู่ ภรรยาของเขาถูกฆ่าขณะพยายามปกป้องบุตรทั้งสามจากการจับกุมของตำรวจท้องถิ่นเนื่องจากพวกเขาเป็นชาวเยนิชเร่ร่อน เมื่อปลดประจำการ Lubo จึงต้องกลับมาตามหาบุตรทั้งสามของตนไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม!
หนังออกจะยืดยาวด้วยระยะเวลาถึง 181 นาที ทั้งยังมีเนื้อหาที่ออกจะเฉพาะกลุ่มประสบการณ์อยู่ไม่น้อย เรื่องนี้จึงไม่ค่อยจะได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อกันสักเท่าไหร่
มาที่หนังฝรั่งเศสซึ่งปีนี้ก็มีเข้ารอบในสายประกวดหลักที่เทศกาลเวนิสอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรก Out of Season ของผู้กำกับ Stéphane Brizé ที่ได้ดาราดังอย่าง Guillaume Canet มารับบทใกล้ตัวเป็นดาราดังนาม Mathieu ที่ได้มาพักผ่อนตากอากาศ ณ รีสอร์ทสุดหรูทางชายหาดตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับถ่านไฟเก่าที่เคยคบหากันมาเมื่อ 15 ปีที่แล้วอย่าง Alice (แสดงโดย Alba Rohrwacher) ซึ่งปัจจุบันได้แต่งงานกับคนอื่นไปแล้ว
ทั้งคู่จึงกลับมาสะสางทุกอารมณ์ความรู้สึกที่ยังคงค้างคา โดยมีฝ่าย Alice ที่จะคอยป้อนคำถามว่า ผู้หญิงที่มีจิตใจดีเช่นเธอจะสามารถมีพฤติกรรมคบชู้คู่รักเก่าโดยไม่มีความผิดได้หรือไม่? กลายเป็นหนังวัดใจสไตล์ฝรั่งเศสที่ทั้งตลกและสะเทือนใจไปพร้อม ๆ กัน
แต่อีกเรื่อง The Beast ของผู้กำกับ Bertrand Bonello ก็อาจจะเล่าเรื่องราวรักข้ามยามภพที่ออกจะอัศจรรย์ได้มากกว่า โดยมีสองนักแสดงคู่ขวัญ Léa Seydoux และ George MacKay มารับบทบาทเป็นคู่รักข้ามกาลเวลาที่กระโดดไปมาระหว่างปี 2044, 1910 และ 2014
โดย Léa Seydoux รับบทเป็น Gabrielle หญิงสาวที่กำลังจะถูกถอนทุกอารมณ์มนุษย์เพื่อให้กลายเป็น android ในปี 2044 ระหว่างการศัลยกรรม เธอได้ย้อนระลึกชาติไปถึงสมัยปี 1910 ที่เธอได้พบยอดรัก Louis (แสดงโดย George MacKay) ยามที่กรุงปารีสเจออุทกภัยอย่างหนัก จนแม้แต่โรงงานผลิตตุ๊กตาของครอบครัวเธอก็ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ก่อนจะวกกลับมาในปี 2014 ที่ Gabrielle รับงานรับจ้างเฝ้าคฤหาสน์ให้เศรษฐีในขณะที่กำลังรองานเป็นนางแบบ โดยมี Louis กลายเป็นหนุ่มแร็พโย่ว์อเมริกัน บอกรักกันผ่านสื่อ Social Media
หนังออกจะเล่นล้อกับแนวทดลองแบบเต็มสูบ ด้วยความสัมพันธ์ทะลุเวลาที่ยากจะอธิบาย บางครั้งก็แห้งแล้งไร้อารมณ์ราวกับจะเป็นงานที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการเขียนบท! แต่จุดที่น่าทึ่งในหนังฝรั่งเศสทั้งสองเรื่องนี้ ก็คือนักแสดงที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสอย่าง Alba Rohrwacher และ George MacKay ต่างพูดภาษาฝรั่งเศสกันได้อย่างเข้าปากชัดเจนทุกถ้อยคำจนแทบจะเป็นเจ้าของภาษาแล้วด้วยซ้ำไม่มีหลุดสำเนียง accent ท้องถิ่นเดิมของตนเองให้ได้ยินกันเลย!
ข้ามฟากมาที่ฝั่งอเมริกัน ก็ยังมีหนังใหม่ของผู้กำกับ David Fincher เรื่อง The Killer ที่ได้นักแสดงหนุ่ม Michael Fassbender มารับบทบาทเป็นมือปืนนิรนามหนุ่มผู้รักสันโดษที่รับงานสังหารบุคคลสำคัญ ๆ ไปทั่วโลก ตั้งแต่ฝรั่งเศส โดมินิกัน ยันสหรัฐอเมริกา
โดยหนังให้เวลากับการเตรียมความพร้อมก่อนลงมือปฏิบัติการในแต่ละเคสของนักฆ่าหน้าหยกรายนี้อย่างใจเย็น ราวจะเป็นงาน remake ฉบับร่วมสมัยของหนังดังอย่าง The Day of the Jackal (1973) ของ Fred Zinnemann เลยทีเดียว
อีกเรื่องก็เป็นหนัง biopic สีขาวดำเล่าประวัติชีวิตส่วนตัวของนักประพันธ์และวาทยกรชื่อดังชาวอเมริกัน Leonard Bernstein เรื่อง Maestro ของผู้กำกับ Bradley Cooper ซึ่งร่วมรับบทนำเป็น Leonard Bernstein เองอีกตำแหน่ง ประกบคู่กับ Carey Mulligan ที่รับบทเป็น Felicia Montealegre ศรีภริยาของเขา
ซึ่งปมประเด็นสำคัญที่ Bradley Cooper ต้องการนำเสนอในหนังเรื่องนี้ก็คือ รสนิยมทางเพศที่ประกาศตัวเป็น bisexual อย่างชัดเจนของ Leonard Bernstein เอง ผู้ชอบหลบภรรยาไปหาเศษหาเลยกับลูกศิษย์วาทยกรหนุ่ม ๆ ของเขาอยู่เสมอ! เพื่อนำเสนอว่ารสนิยมเช่นนี้มีผลต่อการประพันธ์ดนตรีของเขาอย่างไร
เสียแต่การแสดงของ Bradley Cooper ในบทสำคัญนี้ออกจะดูมองโลกในแง่ดีในแบบ Walt Disney มากเกินไป เนื้อหาของหนังจึงยังไม่ใคร่จะน่าเชื่อสักเท่าไหร่ แต่ใครจะไปรู้ว่ามันก็อาจจะถูกใจคนดูอเมริกันก็เป็นได้ และคงต้องรอติดตามกันต่อไปในช่วงฤดูกาลรางวัลต้นปีหน้า
แต่ถ้าจะว่าถึงหนังที่แปลกประหลาดมากที่สุดในเทศกาลก็คงต้องยกให้กับสองเรื่องนี้ เรื่องแรก Holly ของผู้กำกับ Fien Troch จากประเทศเบลเยียม เล่าผ่านมุมมองของ Holly เด็กสาววัย 15 ปีผู้มีพลังอภินิหารแบบแม่ชี Teresa สามารถสัมผัสเนื้อตัวผู้คนเพื่อถ่ายทอดประจุพลังบวกให้ได้ จนเธอได้มาเกี่ยวโยงกับกรณีการใช้ปืนสังหารหมู่เยาวชนในโรงเรียน
หนังไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า Holly มีพลังอำนาจวิเศษนี้มาได้อย่างไร แต่กลับแสดงให้เห็นโดยนัยว่า ถ้ามีประจุบวกอยู่ที่ไหน มันย่อมมีประจุลบตามไปคอยสร้างสมดุลให้เสมอ!
ในขณะที่เรื่อง The Theory of Everything ของผู้กำกับเยอรมัน Timm Kröger ก็อาจจะอธิบายอะไรได้ยากเย็นกว่า หนังขาวดำเกือบทั้งเรื่องเรื่องนี้ ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 1962 ณ การประชุมวิชาการด้านฟิสิกส์ควอนตัม บนเทือกเขาแอลป์ สวิตเซอร์แลนด์ โดยมี Johannes นักศึกษาปริญญาเอกหนุ่มเป็นตัวละครนำ
แต่ในขณะที่ทุกคนกำลังเฝ้ารอการแถลงการค้นพบทฤษฎีใหม่ของกลศาสตร์ควอนตัมโดยนักฟิสิกส์ชาวอิหร่าน เขาก็หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
ที่นั่น Johannes ได้พบกับ Karin นักเปียโนหญิงที่เหมือนจะรู้เรื่องราวเบื้องหลังของเขาเสียทุกเรื่อง เรื่องราวเริ่มชวนฉงนฉงายเมื่อเริ่มมีคนตาย นำไปสู่สถานการณ์ที่แทบจะอธิบายอะไรไม่ได้ เหมือนจะเอาหนังสองเรื่องดังอย่าง Oppenheimer (2013) กับ Last Year at Marienbad (1961) มายำรวมกันจนคนดูคงต้องตัวใครครัวมันกันละทีนี้!
ปิดท้ายด้วยหนังสาย ‘โลกสวย’ รับผิดชอบสังคมอีกสองเรื่องในสายประกวดของเทศกาล เรื่องแรกก็ได้แก่ Woman of… ของสองผู้กำกับ Malgorzata Szumowska และ Michal Englert จากโปแลนด์ เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านตลอดระยะเวลา 45 ปีของ Adam-Aniela จากสามีที่ดีกลายมาเป็นสตรีข้ามเพศเต็มตัว คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนผ่านระบอบสังคมการเมืองในโปแลนด์จากคอมมิวนิสต์สู่ทุนนิยมเสรีแบบเต็มตัว
หนังตั้งใจเล่าภาพชีวิตความอึดอัดจนเกินทนของคนข้ามเพศที่เกิดมาในร่างที่ไม่ตรงกับจิตวิญญาณตนเอง แต่ทั้งหมดที่หนังเล่าก็ถือเป็นสิ่งที่งาน Queer ร่วมสมัยเรื่องอื่น ๆ ได้ตีแผ่กันไปจนทะลุหมดแล้ว Woman of… จึงแทบไม่ได้ให้มุมมองอะไรใหม่ ๆ แก่ผู้ชมในยุคสมัยหลังโควิดแห่งปี 2023 นี้เลย
ส่วนเรื่อง Origin ของ Ava DuVernay ก็เป็นหนังที่เล่าความเป็นมาในการเขียนหนังสือเขย่าสังคมอเมริกัน Caste: The Origins of Our Discontents (2020) ของนักเขียนหญิงผิวสี Isabel Wilkerson เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize โดยมีนักแสดงหญิง Aunjanue Ellis-Taylor มารับบทเป็น Isabel Wilkerson
ซึ่งในหนังและหนังสือเล่มนี้ Isabel Wilkerson ก็จะมาอธิบายว่าประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวที่ยังคงมีในสังคมอเมริกันมันเอื้อให้เกิดความ ‘ไม่เท่าเทียม’ จนกลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะในยุคสมัยปัจจุบันกันอย่างไร โดยเทียบไปถึงการจำแนกชั้นทางสังคมในอินเดีย และอุดมการณ์ของพรรคนาซี
ซึ่งก็น่าเสียดายที่หนังออกจะติดลีลาแบบเทศนาโวหารมากเกินไป จนแนวคิดทลายชนชั้นวรรณะหรือ Caste ของ Isabel Wilkerson เหมือนจะพยายามย้อนกลับไปเชิดชูลัทธิสังคมนิยมที่ Karl Marx และ Friedrich Engels ได้เคยประกาศไว้ใน The Communist Manifesto (1848)!