ในวันที่ 23 ม.ค.2568 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2567 หรือ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” จะมีผลบังคับใช้ หลังจากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาสให้การสมรสไม่จำกัดเฉพาะเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น แต่รองรับการสมรสระหว่างบุคคลทุกเพศ โดยสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่เกี่ยวกับคู่สมรส คือ จาก สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ,การปรับอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และคู่สมรสที่จดทะเบียน จะมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับสิทธิที่เคยมีในกฎหมายสมรสแบบเดิม
สิทธิรักษาพยาบาล สมรสเท่าเทียม
ในส่วนของสิทธิรักษาพยาบาล คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับสิทธิ จากรัฐและประกันสุขภาพในลักษณะเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ เช่น การเป็นผู้ประกันตนภายใต้ประกันสังคม หรือได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคู่สมรสของตน
การที่คู่สมรสได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันนั้น ส่งผลดีในหลายด้าน เช่น
- เพิ่มคุณภาพชีวิต การมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต การได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่เหมาะสมจะช่วยให้คู่สมรสมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตคู่ การที่คู่สมรสสามารถดูแลซึ่งกันและกันในด้านสุขภาพ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และความมั่นคงในชีวิตคู่
- ส่งเสริมความเท่าเทียม การให้สิทธิในการรักษาพยาบาลแก่คู่สมรสทุกคู่ เป็นการส่งเสริมหลักการความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม
สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่การสมรสเท่าเทียมจะได้รับ อย่างเช่น
- สิทธิในการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลได้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในการให้ความยินยอมในการรักษาแทนได้นับเป็นการการขยายสิทธิทางกฎหมายให้ครอบคลุมความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน
กรณีที่ต้องให้ความยินยอมในการรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด
- การทำหัตถการที่มีความเสี่ยง การตรวจหรือรักษาที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การทำเคมีบำบัด การส่องกล้อง หรือการเจาะชิ้นเนื้อ ต้องได้รับการยินยอมล่วงหน้า
- การให้ยา หรือการรักษาแบบเฉพาะทาง การให้ยาแรง ยาที่มีผลข้างเคียงสูง หรือการรักษาที่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น การฉายแสง การให้ยาปฏิชีวนะชนิดพิเศษ ต้องได้รับการอธิบายและยินยอมจากผู้ป่วยก่อน
- การรักษาที่เกี่ยวข้องกับจิตเวช การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่น การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy – ECT) หรือการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท ต้องมีความยินยอมจากผู้ป่วยหรือญาติ
- การรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด
- การวิจัยทางการแพทย์
- การรักษาในกรณีฉุกเฉิน ในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถติดต่อผู้ป่วยหรือญาติได้ แพทย์สามารถตัดสินใจทำการรักษาโดยไม่ต้องรอความยินยอม เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน เช่น การผ่าตัดที่สามารถรอได้ ผู้ป่วยหรือญาติต้องให้ความยินยอมก่อนเสมอ
- การรักษาผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือบุคคลไร้ความสามารถ การรักษาผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือบุคคลที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามกฎหมาย
- การเปลี่ยนแปลงแผนการรักษา หากแพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องได้รับข้อมูลและให้ความยินยอมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น
- สิทธิในการจัดการเรื่องสุขภาพ คู่สมรสสามารถร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของกันและกัน เช่น การเลือกโรงพยาบาล การปรึกษาแพทย์ และการวางแผนการรักษาในระยะยาว
- สิทธิในการรับมรดกทางการแพทย์ ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในการรับมรดกทางการแพทย์ เช่น ประวัติการรักษาพยาบาล ข้อมูลทางสุขภาพ และสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ
นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ… หรือ พ.ร.บ..อุ้มบุญ เพื่อรองรับการมีบุตรตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมด้วย
สิทธิประกันสังคม สมรสเท่าเทียม
กรณีที่คู่สมรส เป็นผู้ประกันตน สามารถได้รับสิทธิประกันตน ตามที่มีการกำหนดให้คู่สมรสได้รับด้วย ยกตัวอย่าง
กรณีคลอดบุตร หากผู้ประกันตนเป็นฝ่ายคลอดได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ไม่จำกัดสถานพยาบาลและจำนวนครั้ง พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (สำหรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง) พร้อมเบิก ค่าตรวจและฝากครรภ์ ได้สูงสุด 1,500 บาท
กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 1,000 บาท/เดือน โดยต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ครั้งละไม่เกิน 3 คน
กรณีเงินบำเหน็จชราภาพ หากผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
กรณีเสียชีวิต จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท โดยผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต จึงจะได้รับสิทธิ
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ประกันสังคมจะต้องกำหนดให้ชัดเจน ในส่วน “นิยาม บุตรคู่สมรสเท่าเทียม” กรณีที่คู่สมรสมีบุตร ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยบุตรที่อาจจะเกิดขึ้นจากไข่ หรืออสุจิของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
แล้วนิยามของบุตรที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะทายาทตามกฎหมายประกันสังคม จะครอบคลุมการได้สิทธิของผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของไข่หรืออสุจิเท่านั้น หรือบุตรจะสามารถได้รับสิทธิของผู้ประกันตนแม้ไม่ได้เป็นเจ้าของไข่หรืออสุจิแต่ผู้ประกันตนที่เป็นคู่สมรสมีการรับรองบุตรตามกฎหมายด้วย
สิทธิบัตรทอง 30 บาท สมรสเท่าเทียม
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ซึ่งเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาลและส่งเสริมป้องกันโรคเป็นสำคัญ จึงเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล หากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสมรมเท่าเทียม ก็คงจะอยู่ในส่วนสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการรับบริการของกลุ่มหลากหลายทางเพศ
การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้รับงบประมาณมาแล้ว จะเริ่มดำเนินการในปี 2568
การผ่าตัดแปลงเพศ มีการให้สิทธิรักษาฟรีและมีข้อยกเว้นที่สิทธิไม่ครอบคลุม คือ การผ่าตัดแปลงเพศแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่า มีข้อบ่งชี้ที่เป็นภาวะความจำเป็นต้องทำ ถือว่าเป็นการรักษา จัดอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ที่ครอบคลุมการดูแล ซึ่งแต่ละปีจะมีคนผ่าตัดแปลงเพศประมาณ 100 คน โดยหากเป็นผู้มีที่มีลักษณะอวัยวะเพศกำกวม ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่บัตรทองครอบลุมและใช้สิทธิรับบริการได้
กรณีกลุ่มคนข้ามเพศที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ ต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยก่อน หากเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความจำเป็นและสมควรรับการผ่าตัดแปลงเพศ ก็จะสามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท รับบริการได้ เพราะจะไม่เข้าข่ายเป็นกรณีเสริมความงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เนื่องจากหากเป็นการเสริมความงามสิทธิประโยชน์จะไม่ครอบคลุม
อ้างอิง : รพ.จุฬารัตน์ 9 , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)