ส่องแพคเกจ ‘อีวี3.5’ ปลุกซื้อ-ลงทุน ดันไทยฮับผลิต | MATICHON ONLINE


สกู๊ป-แพคเกจอีวี3.5

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ อีวี ของไทยจะยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง หลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไฟเขียวมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (อีวี3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570)

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

เป็นไปตามนโยบาย 30@30 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

ดังนั้น จึงเห็นชอบมาตรการอีวี3.5 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการอีวี 3 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย

สำหรับรายละเอียด มาตรการอีวี3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่

รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน

ขณะที่รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน

และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาท/คัน

หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสมและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากส่วนลด มาตรการอีวี3.5 จะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (ซีบียู) ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท รวมทั้งลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ จะต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศคือ ผู้ได้รับการสนับสนุนต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1:2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1:3 ภายในปี 2570

พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (แอททริค)

บอร์ดอีวีมั่นใจว่า มาตรการอีวี3.5 จะตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค หลังออกมาตรการอีวี 3 มาตการใหม่จะดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050

จากมาตรการแพคเกจอีวี3.5 บอร์ดอีวีอนุมัติครั้งนี้ ภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต่างตอบรับ ให้การสนับสนุนมาตรการนี้ เพราะเป็นมาตรการที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เรียกร้องความชัดเจนจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ค่ายรถยนต์ที่เตรียมพร้อมเข้ามาลงทุนอีวีในไทย หลักๆ คือนักลงทุนจีน ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่น คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนอีวีในประเทศไทยมากขึ้น

ขณะที่ค่ายยุโรปอาจต้องรอให้มาตรการรัฐเอื้อลงทุนมากกว่านี้ เพราะค่ายยุโรปทำราคารถอีวีสูงกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคารถสูงสุดที่แพคเกจอีวี3.5 ให้การสนับสนุน

ส่วนค่ายรถยนต์สหรัฐอเมริกาหลายคนจับตาอย่างเทสลา มีข้อมูลว่า นายเศรษฐาจะใช้โอกาสระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาเร็วๆ นี้ เข้าหารือกับผู้บริหารเทสลา พร้อมนำเสนอแพคเกจอีวี3.5 พ่วงกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านอื่นๆ ของไทย อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ไม่เพียงแพคเกจ 3.5 บอร์ดอีวีให้ความสำคัญไฟเขียวรอบนี้ ยังพบว่าที่ประชุมได้เห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้รับสิทธิตามมาตรการอีวี 3 จากเดิมต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567

เหตุผลการขยายเวลาจดทะเบียนดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Thailand International Motor Expo จัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนมกราคม 2567

โดยมาตรการอีวี 3 ส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท กำหนดให้ผู้เข้าโครงการต้องผลิต 1:1 เป็นมาตรการระยะแรก เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นค่ายจีน ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ไม่น้อย

สถิติช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า

เมื่อนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าปี 2560 ถึงปัจจุบัน 2566 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท ทั้งจากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นอกจากนี้ บอร์ดอีวีอนุมัติต่ออายุรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ระยะ 1 ต่อไปอีก 2 ปี (2567-68) จากสิ้นสุดสิ้นปีนี้ ตรงกับนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาต้องการสนับสนุนรถยนต์สันดาปภายในโดยเฉพาะรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่นต่อไป เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตสุดท้ายของรถยนต์สันดาปภายในในอีก 15 ปีจากนี้

ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนการผลิตรถส่วนใหญ่ 70% ของไทยให้เกิดความคึกคัก พร้อมปรับตัวไปสู่ยานยนต์อนาคต หลังปักหมุดผลิตอีวีให้ได้ 30%

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ให้ความเห็นต่อมติบอร์ดอีวีที่อนุมัติมาตรการอีวี3.5 ว่า เป็นมาตรการที่มาถูกทางแล้ว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการลงทุนจากค่ายรถอีวีในไทยให้ต่อเนื่องจากมาตรการอีวี 3 จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะปี 2567 จะมีค่ายรถทั้งรายใหม่และรายที่เข้ามาตรการอีวี 3 ขอเข้าโครงการแน่นอน

นับเป็นนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *