ส่องโอกาสธุรกิจ “มันตรา” อาหารทะเลจากพืชเจ้าแรกในไทย


สิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ
สิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ

“Matichon

ความนิยมแพลนต์เบส หรืออาหารจากพืชกำลังเติบโตอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่เริ่มรุกทำตลาดมากขึ้น เพราะเห็นโอกาสจากเทรนด์สุขภาพ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ” ผู้ก่อตั้งโรงงานผลิตอาหารทะเลจากพืชเป็นรายแรกของไทยเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ภายใต้แบรนด์ “มันตรา” โดยบริษัท สยาม คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ จำกัด ถึงจุดเริ่มต้นและโอกาสตลาดแพลนต์เบสรวมถึงเป้าหมายในอนาคต

มองเทรนด์อนาคต

สิริเชษฐ์กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสไปดูงานแสดงสินค้าอาหารที่เยอรมนี เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา และได้เห็นเทรนด์ด้านอาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) แพลนต์เบส ฟู้ด (plant based food) ที่ผลิตจากพืชเป็นหลัก นำมาบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ ในต่างประเทศตลาดมีการเติบโต ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่นิยมก็จะเป็นสินค้าแพลนต์เบส เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่เป็นส่วนใหญ่

จากที่ปัจจุบันคนให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดมีการเติบโต และสินค้าเป็นที่ต้องการ ขณะที่ประเทศไทยขณะนั้นกลุ่มผู้ผลิต และตลาดยังไม่ใหญ่มาก เราก็ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจและสนใจที่จะเข้ามาในธุรกิจแพลนต์เบส

       
       

“ผมได้เริ่มทำธุรกิจแพลนต์เบสกับน้องสาว เมื่อปี 2560 ภายใต้แบรนด์มันตรา โรงงานเราตั้งที่สมุทรสาคร เริ่มผลิตสินค้าแพลนต์เบส handmade (แฮนด์เมด) และผลิตสินค้าที่คิดว่าในตลาดยังไม่มี คือ อาหารทะเล และเราถือว่าเป็นรายแรกที่ผลิตสินค้าแพลนต์เบสทะเล ก่อนที่ปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็กเริ่มเข้ามาผลิตอาหารทะเลเหมือนกัน”

ผุดสินค้าใหม่ “ปูขนุน”

ผลิตภัณฑ์แรกที่เราผลิตออกสู่ตลาด คือ ลูกชิ้นกุ้ง ซึ่งเราเริ่มมาจำหน่ายย้อนไป 3 ปีกว่า เราจะคิดค้นสินค้าและนำมาทดลองตลาดก็ใช้เวลาพอสมควร และตลาดแรกที่เราทดลอง คือ นำสินค้าไปร่วมแสดงในงานแสดงสินค้าอาหารของไทย หรือ ThaiFex ได้เจรจาส่งออกสินค้า และงานนั้นเราได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้เราเริ่มมีลูกค้าเข้ามาและเราจึงได้มีสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ลูกชิ้นปลา ซึ่งจะเป็นอาหารพร้อมทาน และกลุ่มลูกค้ามีทั้งลูกค้าทั่วไป และร้านอาหาร เพราะเรามีสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ อย่างเนื้อหมูบด เนื้อกุ้ง เนื้อปลา เป็นต้น

เดิมสินค้าหลักที่ผลิตเป็นแพลนต์เบส กุ้ง ปลาที่พร้อมทาน และวัตถุดิบในรูปแบบลูกชิ้น และเนื้อบด ล่าสุดในปี 2566 ออกสินค้าตัวใหม่ คือ ปูบดที่ทำจากขนุน และยังได้พัฒนาสินค้าที่เป็นในกลุ่มอาหารทานเล่น อย่างข้าวเกรียบกุ้งด้วย ส่วนแพลนต์เบสเบคอน แฮม ก็พัฒนาเพื่อรองรับตลาดด้วย

ตลาดส่งออก-ฟู้ดเซอร์วิสดี

แม้เทรนด์แพลนต์เบสจะเริ่มเข้ามาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีบทบาทในประเทศไทยไม่มาก และผู้บริโภคยังมีความสับสนกับอาหารเจ

Advertisement

“ผมอยากให้คนบริโภคเข้าใจว่าแพลนต์เบสนั้นมีวัตถุดิบจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลูกไก่ ถั่วลันเตา แต่สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารเจนั้น มาจากผงบุก ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกัน แต่ผู้บริโภคเจก็สามารถทานได้ เพราะปัจจุบัน ก็ผลิตสินค้าที่คนทานเจทานได้ แต่ก็จะมีบางตัวที่ยังมีส่วนผสมบางตัวที่คนเจทานไม่ได้ ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้”

“ที่บอกว่าในไทยตลาดแพลนต์ยังโตช้าหากเทียบต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือ ราคา ต้นทุนที่ยังสูง การบริโภคยังอยู่ในกลุ่มจำกัด และคนไทยยังขาดความรู้ ความเข้าใจกับอาหารแพลนต์ซึ่งต้องใช้เวลาเราจึงได้ทำการส่งออกเป็นหลัก”

แบรนด์มันตราเราเริ่มทำตลาดส่งออก 100% ส่งออกเป็นหลัก โดยตลาดหลักที่ส่งไปครั้งแรก คือ ดูไบ โดยสินค้าที่ส่งไปมีทั้งแบบขายปลีก และสำหรับเข้าร้านอาหาร แต่ปัจจุบันปรับสัดส่วนตลาด เป็นส่งออก 80% ซึ่งตลาดหลักที่ส่งออกอยู่ในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ดูไบ และซาอุฯ เป็นต้น และขายในประเทศ 20% โดยช่องทางจำหน่ายมีทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ บริการฟู้ดเซอร์วิส กลุ่มลูกค้าก็มีทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เรามีเป้าหมายจะขยายตลาดส่งออกไปในยุโรป สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในกลุ่มแพลนต์เบส แต่ยังติดเรื่องมาตรฐานที่จะต้องทำให้ได้ เพราะต้องยอมรับว่าการทำมาตรฐานส่งออกสินค้าไปในตลาดนี้มีกฎระเบียบ เงื่อนไขสูง และยังมีต้นทุนสูงด้วย แม้ตอนนี้จะยังทำไม่ได้ แต่เชื่อว่าอนาคตเราทำได้แน่นอน และปัจจุบันเราก็ได้มาตรฐานที่ตลาดยอมรับอยู่แล้ว

อุปสรรคการขยายตลาด

เนื่องจากว่าแบรนด์มันตราเป็นสินค้าแช่แข็ง จึงต้องหาลูกค้าที่สามารถดูแลเรื่องระบบการขนส่งและดูแลสินค้าแช่แข็งได้ เพราะหากลูกค้าไม่มีการขนส่งและดูแล การกระจายสินค้าก็อาจจะยาก สำหรับสินค้าที่ต้องรักษาระดับอุณหภูมิอยู่ที่ 18 องศา และอายุของสินค้าเพียง 1 ปี จึงเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ว่าเราจะเจรจาซื้อ-ขายสินค้ากับลูกค้าคนไหนก็ได้ ลูกค้าจึงมีวงจำกัด

Advertisement

อีกทั้งในปัจจุบันในตลาดเริ่มมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มมาทำแพลนต์เบสที่เป็นอาหารทะเล การแข่งขันราคาก็เป็นอะไรที่ยาก

“เราไม่ท้อ แม้เราเป็นเอสเอ็มอี แต่ก็มีพื้นที่ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะเติบโตได้ ทั้งยังได้หน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาให้ความรู้ และช่วยเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น”

3 ปี กวาดรายได้ 300 ล้าน

บริษัทมีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี ระหว่าง ปี 2566-2568 จะต้องทำรายได้รวมให้ได้ 300 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 10 ล้านบาท โดยจะขยายตลาดส่งออกครอบคลุมเอเชีย เพิ่มตลาดส่งออกไปในกลุ่มตะวันออกกลาง และตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถส่งออกสินค้าไปได้ ในปี 2567 นอกจากนี้จะขยายส่วนของตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันส่งออกสินค้าไปได้บ้างแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้อย

ขณะเดียวกันจะพยายามขยายตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยจำเป็นจะต้องขอให้หน่วยงานภาครัฐคอยให้การสนับสนุนสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการรับรู้และความต้องการบริโภค หากทำได้เชื่อว่าตลาดจะโตได้ และส่งเสริมให้แพลนต์เบสเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะทั่วโลกรู้ว่าอาหารไทยมีมากมายและขึ้นชื่อ การส่งเสริมจะทำให้ผู้ประกอบการทำตลาดได้ง่าย จึงเป็นสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *