วันอังคาร ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 07.35 น.
‘หมอตุลย์’ย้ำขยายเวลา‘ทักษิณ’รักษาตัวนอกเรือนจำต้องมีความเห็นแพทย์ เตือนทำข้อมูลเท็จเสี่ยงติดคุก
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวในรายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 กล่าวถึงการเข้ารักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 8 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี แต่ถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวยังชั้น 14 รพ.ตำรวจ ในทันทีตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ว่า ตามขั้นตอนปกติ เมื่อมีผู้ป่วยในเรือนจำที่ต้องส่งตัวไปรักษาภายนอก ต้องรายงานผู้บัญชาการเรือนจำ ทั้งนี้หากอยู่นอกเวลาราชการ ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจตัดสินใจไปก่อนแล้วจึงรายงานอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในภายหลังได้ กรณีของนายทักษิณ จึงเป็นการส่งตัวในช่วงกลางคืน
จากนั้นเมื่อไปถึงโรงพยาบาล โดยปกติขั้นตอนแรกต้องตรวจแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ก่อน ยกเว้นอาการหนักจึงให้ไปห้องฉุกเฉิน แต่เท่าที่ติดตามข่าวไม่เห็นมีการกล่าวถึงการไปห้องฉุกเฉินแต่อย่างใด เป็นข้อพิรุธที่ 1 นอกจากนั้น ในกฎกระทรวงยุติธรรม ปี 2563 ว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ข้อ 4 (2) ให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบสิทธิ์ตามที่ราชการจัดให้ แต่ห้ามไม่ให้พักห้องพิเศษซึ่งแยกจากผู้ป่วยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีที่สามารถจัดให้อยู่ในห้องควบคุมพิเศษได้
แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทั้งห้องพิเศษและห้อง ICU โดย คำว่าห้องควบคุมพิเศษ ความหมายทางการแพทย์คือคนคนนั้นต้องควบคุมเป็นพิเศษ เพราะติดเชื้อรุนแรงที่อาจเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถติดต่อผู้อื่นได้ เช่น ช่วงที่มีการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือหากให้อยู่หอผู้ป่วยทั่วไปอาจไปทำร้ายผู้อื่นหรือตนเอง เช่น ผู้ป่วยจิตเวช คำถามคือ นายทักษิณป่วยด้วยอาการที่เข้าข่ายต้องอยู่ในห้องควบคุมพิเศษจริงหรือ
อนึ่ง ห้องพิเศษยังมีหลายระดับ เช่น ห้องพิเศษแบบรวม 1 ห้อง อาจมีอย่างน้อย 2 เตียง ห้องพิเศษเดี่ยวพักแยก ไปจนถึงห้องพิเศษเดี่ยวแบบ VIP ที่มีห้องรับแขก ซึ่งอย่างหลังสุดหากเป็นโรงพยาบาลของรัฐค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักหมื่นบาท แต่หากเป็น รพ.เอกชน น่าจะไปถึงหลักแสนบาท แต่มั่นใจว่าไม่เคยมีนักโทษคนใดได้พักในห้องระดับนี้ นอกจากนั้น หากผู้ป่วยอาการหนักจริง อย่างแรกต้องนอนห้อง ICU ซึ่งห้อง ICU ก็ไม่ใช่ห้องแยก และการรับผู้ต้องขังจากเรือนจำไว้เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องมีความเห็นแพทย์จาก รพ. ที่รับ ถามว่ามีหรือไม่
“ถ้าผมเป็นแพทย์ รพ.ตำรวจ ผมจะขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับเคสนี้ เพราะผมไม่อยากเอาขาข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในคุก คนที่เป็นแพทย์ทุกคนรู้ว่าการให้ความเห็นที่เป็นเท็จแล้วเอื้อประโยชน์ให้คนอื่น มันผิดทั้งอาญาและ พ.ร.บ.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกราม พักใบอนุญาตได้” ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าว
ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นต่อมา ที่มีภาพการเข็นเตียงซึ่งอ้างว่าเป็นการพานายทักษิณไปเข้าเครื่อง MRI ที่อีกตึกหนึ่ง คำถามคืออาคารที่พักอยู่นั้นไม่มีเครื่องดังกล่าวเลยหรือ รวมถึงในตอนแรกที่มีรายงานข่าวว่า นายทักษิณมีโรคประจำตัว 4 โรค แต่ต่อมาที่มีรายงานการผ่าตัดคือการเจาะไหล่ 4 รู ซึ่งปกติการเจาะไหล่แบบนี้จะอยู่ในขั้นตอนการรักษาเส้นเอ็นที่เสื่อม หรือเกิดอุบัติเหตุเส้นเอ็นฉีกขาด หรือหากเป็นอาการไหล่ติด การรักษาจะต้องเริ่มจากการทำกายภาพบำบัดก่อน
ขณะที่ในกฎกระทรวง ข้อที่ 7 ว่าด้วยการพักรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันน่าจะมากกว่า 70 วันแล้ว ตามขั้นตอนระบุว่า 30 วัน อำนาจอยู่ที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 60 วัน อยู่ที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ 120 วัน อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ย้ำว่าต้องมีความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลของผู้ป่วยสามารถส่งต่อกันตามอำนาจหน้าที่ได้ เพียงแต่ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้นที่พูดกันว่านายทักษิณอาจจะได้พ้นโทษเร็วๆ นี้ ก็อาจมีคนอื่นได้เข้าไปติดคุกแทนหากตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่ามีการทำข้อมูลเท็จขึ้น
“มีท่านนั้นมาพบพี่นกเขา (ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ) เขาใช้คำนี้ ลงเป็นข่าวใหญ่โต บอกว่าไม่ใช่เป็นความเห็นของแพทย์ที่ รพ.ตำรวจ เขาชิ่งไปบอกว่าเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ที่จะตัดสินใจว่าจะให้อยู่ต่อหรือเปล่า ผมว่ามันกลับกัน คืออธิบดี ปลัดหรือรัฐมนตรี มั่วไม่ได้ เพราะในกฎกระทรวงเขียนบอกว่าพร้อมคำวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการรักษา เขาต้องถามความเห็นว่าสมควรต้องอยู่ต่อหรือเปล่า สามารถอยู่ที่เรือนจำแล้วส่งตัวมาตรวจ-ตววจแล้วกลับได้หรือไม่ มันไม่ใช่นอน ICU อย่างนี้ต้องอยู่โรงพยาบาลแน่ๆ หรือผ่าตัดแล้วต้องพักฟื้น 7 วัน” ผศ.นพ.ตุลย์ ระบุ
<!–
window._taboola = window._taboola || [];
_taboola.push({
mode: ‘thumbnails-a’,
container: ‘taboola-below-article-text-links’,
placement: ‘Below Article Text Links’,
target_type: ‘mix’
});
–>