หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน


คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อมร พวงงาม

เห็นข่าวต่างประเทศ ประเด็นรถ EV จีน กำลังจะล้มละลาย

ยิ่งอ่าน…ยิ่งเสียวไส้

ประเทศจีนถือเป็นตลาดรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายราว 5-6 ล้านคัน หรือราว ๆ 60% ของยอดขายรถ EV ทั่วโลก

สาเหตุที่จีนเป็นเจ้าตลาดเพราะผู้ผลิตได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เคยมีการคำนวณกันว่า ช่วง 10 ปี รัฐบาลจีนสนับสนุนเงินกว่า 152 พันล้านหยวน ทำให้ถึงตอนนี้จีนมีผู้ผลิตมากกว่า 500 ราย

อะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสียแน่นอน

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยตลาด EV บ้านเรากำลังเจริญรอยตามจีน

Advertisement
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }

ปี 2565 ต่อเนื่องปี 2566 รัฐบาล “พลเอกประยุทธ์” ใส่เม็ดเงินให้กับการปลุกตลาดรถ EV เกือบ 3 พันล้าน ดูไปก็เห็นผลดีนะ เพราะตัวเลขการเติบโตของตลาดรถ EV ขยายเป็น 100 เท่าตัว ตอนนี้ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถ EV สะสมแตะ 1 แสนคัน เฉพาะ 8 เดือนปี 2566 ทะลุ 5 หมื่นคัน เชื่อว่าทั้งปียอดจดทะเบียนรถ EV น่าจะวิ่งไปเกิน 6 หมื่นคัน

น่าดีใจด้วย

แถม BOI โชว์ตัวเลขผู้ประกอบการจีนที่ประกาศลงทุนในบ้านเรา ทั้งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, ชิ้นส่วนสำคัญและสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท ทำให้ปี 2567 ประเทศไทยน่าจะมีรถ EV จีนใกล้ ๆ 10 แบรนด์

เริ่มเห็นความเหมือน ตลาดรถ EV ในจีนเข้าไปเรื่อย ๆ

Advertisement
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 300px;
min-height: 250px; } }

คำถามคือ 10 แบรนด์มากไปมั้ย ? นักการตลาดหลาย ๆ คนตอบคล้ายกัน “เยอะไป” แรก ๆ ที่ MG เกรท วอลล์ฯ BYD เนต้า เข้ามาทำตลาด ทุกอย่างยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกคนตื่นเต้น แฮปปี้ เทคโนโลยีใหม่ แถมราคาถูกลงจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ มีเท่าไหร่ขายได้หมด

แต่หลังจากนี้กำลังจะทยอยมาอีก 4-5 แบรนด์ ทั้ง AION, Changan OMODA และ JACCO ถึงเวลานั้นคงแย่งชิงลูกค้ากันสนุก

โดยเฉพาะบางแบรนด์ เช่น AION, Changan ประกาศชัดเจนว่าจะใช้นโยบายตั้งดิสทริบิวเตอร์ เพื่อไปเฟ้นหาดีลเลอร์ในเครือข่ายตัวเองอีกทอด เจ้าละ 20 ถึง 30 ราย

นึกไม่ออกว่าซัพพลายที่มากกว่าดีมานด์อะไรจะเกิดขึ้น

การใช้ดิสทริบิวเตอร์ นโยบายนี้ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศจีน ซึ่งไม่ซักเซสเท่าที่ควร แถมมีปัญหาตามมาด้วย โดยเฉพาะโลเกชั่นแต่ละดีลเลอร์ซ้ำซ้อนกัน ทำให้เขตพื้นที่การขายไม่ชัดเจน

นี่ขนาดประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล มาบ้านเราคงแบบเดียวกับ “ร้านสะดวกซื้อ” ที่เปิดทับกันไปมา ถึงวันที่รถขายไม่ได้ คงดัมพ์ราคากันอุตลุด

วันก่อนมีข่าวว่าดิสทริบิวเตอร์แบรนด์จีนรายหนึ่ง มอบหมายให้กลุ่มผู้ประกอบการรถเช่า และพวกขายอุปกรณ์ไอที  ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขาย เท่าที่ดูประสบการณ์ขายรถยังไม่มี แถมโชว์รูมศูนย์บริการก็ไม่สร้างด้วย ลูกค้าถามซื้อแล้วเซอร์วิสที่ไหน

เซลส์ให้คำตอบว่า “ฟาสต์ฟิต” ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ บอกว่ารถ EV เซอร์วิสไม่ยาก เอาละซิ…ฟังดูเหมือนขายของชิ้นละไม่กี่พันบาท

คงลืมไปว่า คนไทยซื้อรถ ความคาดหวังสูง

อีกเรื่องที่นักการตลาดกังวลคือ นโยบายสนับสนุกรถ EV เฟสที่ 2 ซึ่งรัฐบาลที่แล้วตั้งเรื่องรอรัฐบาลใหม่เคาะ คำถามคือ อนุญาตให้ขายรถนำเข้ากันไปก่อน แล้วผลิตชดเชยภายหลัง ถ้าถึงเวลาทำไม่ได้จริง…อะไรจะเกิดขึ้น

ถามหน่วยงานรัฐ พูดเสียงแข็งบอกว่าทุกเจ้ามีแบงก์การันตีคุ้มครองหากไม่ทำตามข้อตกลง

ประโยคแบบนี้ จำได้ว่าในช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ส่งเสริมนโยบายรถคันแรก มีข้อกำหนดชัดเจนว่าภายในระยะเวลาเท่าไหร่ต้องผลิตให้ได้ครบตามจำนวน ทำไม่ได้มีค่าปรับ

ถึงวันนี้ไม่รู้อีโคคาร์แบรนด์ไหนบ้างน้า…ที่เสียค่าปรับให้กับ “บีโอไอ”


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *