อย. เปิด 10 อันดับเรื่องร้องเรียน “โฆษณาอาหาร” นำโด่ง


15 มีนาคม วันสิทธิผู้บริโภคสากล ด้าน อย.หนุนผู้บริโภคตระหนักสิทธิพื้นฐานปกป้องตนเอง  พร้อมเผยปัญหา “อาหาร” รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด รองลงมา คือ ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ สมุนไพรฯลฯ  เปิดช่องทางทุกแพลตฟอร์มให้แจ้งปัญหาได้

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า 15 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” หรือ World Consumer Rights Day เป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และส่งเสริมให้มีการเคารพ ปกป้องสิทธิของตน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง รู้จักการปกป้องสิทธิ์ จะเป็นกลไกที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

เปิดช่องทางผู้บริโภคร้องเรียนผ่าน อย.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีความห่วงใยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดหลอกลวง จึงขอเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคแสดงจุดยืนและเรียกร้องสิทธิของตนเอง โดย อย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน อย. 1556 Line @FDAThai  Facebook : FDAThai Email: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

อย.รับเรื่องร้องเรียนปัญหา “อาหาร” มากสุด  

ทั้งนี้ อย. ให้ความสำคัญกับเสียงของผู้บริโภค โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหาร 2,106 เรื่อง ยา 1,145 เรื่อง เครื่องสำอาง 420 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 189 เรื่อง สมุนไพร 129 เรื่อง วัตถุอันตราย 49 เรื่อง วัตถุเสพติด 31 เรื่อง อื่น ๆ 38 เรื่อง รวม 4,107 เรื่อง 

เปิด 10 อันดับเรื่องร้องเรียน “โฆษณาอาหาร” นำโด่ง

สำหรับ 10 อันดับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ 1. โฆษณาอาหาร 959 เรื่อง 2. โฆษณาขายยาทางเว็บไซต์ 946 เรื่อง 3. ฉลากอาหาร 904 เรื่อง 4. โฆษณาเครื่องสำอาง 207 เรื่อง 5. การขออนุญาตอาหาร 149 เรื่อง 6. การขายยา 145 เรื่อง 7. การขออนุญาตเครื่องสำอาง 110 เรื่อง 8. โฆษณาเครื่องมือแพทย์ 104 เรื่อง 9. โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร 69 เรื่อง การขออนุญาตเครื่องมือแพทย์ 69 เรื่อง และ 10. สงสัยคุณภาพอาหาร 63 เรื่อง

“ อย. จะตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดต่อไป” เลขาฯ อย.กล่าว


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *