วันเสาร์ ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 06.30 น.
นิสิตสัตวแพทย์ได้รับคุณประโยชน์ในการศึกษาด้ายกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์อย่างมากมายมหาศาล เพราะมีอาจารย์ใหญ่ให้ความรู้ ดังนั้นอาจารย์ใหญ่จึงมีบุญคุณต่อผู้ที่จะเป็นสัตวแพทย์ในอนาคต เพราะช่วยให้สามารถศึกษาวิจัยขั้นสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้อย่างดีที่สุด
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปพูดคุยกับผู้บริจาคซากของสัตว์เลี้ยงเพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ใช้ศึกษาเล่าเรียน และสนทนากับนิสิตสัตวแพทย์ที่ยืนยันว่าซากของอาจารย์ใหญ่คือสิ่งที่มีบุญคุณอย่างสูงกับการพัฒนาศักยภาพสัตวแพทย์
คุณวันวิสาข์ พนศิริรัตน์ ผู้บริจาคซากสุนัขเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่
● สวัสดีครับ ขอบคุณที่มาร่วมรายการกับเราในวันนี้ครับ นำซากของน้องหมาหรือแมวมาบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่ครับ อายุของน้องที่นำมาบริจาคกี่ปีครับ
คุณวันวิสาข์ : น้องหมาพันธุ์พุดเดิลค่ะ เขาตายเมื่ออายุ 16-17 ปีค่ะ เขาป่วยมาระยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปี ด้วยอาการเกี่ยวกับตับ เราพาน้องมารักษาที่โรงพยาบาลสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกคนมีน้ำใจดีสัตวแพทย์ที่ให้การรักษาก็เอาใจใส่ดูแลน้องหมาดีมาก ให้ความรู้กับเจ้าของด้วยว่าต้องดูแลรักษาพยาบาลน้องหมาอย่างไร เพื่อยืดอายุของน้องหมาให้นานที่สุด และให้เขามีความสุขมากที่สุดแม้จะเจ็บป่วยโรงพยาบาลสัตว์ของเกษตรฯ มีแผนกเฉพาะโรค จึงให้การรักษาได้ตรงกับอาการป่วย ประทับใจบุคลากรทุกคนของที่นี่มากค่ะ
● น้องหมาอายุ 16-17 ปี นับว่าอายุยืนมากเลยนะครับ อยู่กันมานานก็ย่อมผูกพันกันมาก ก็ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของน้องหมาด้วยครับ แต่ขออนุญาตถามเรื่องที่ตัดสินใจนำซากน้องมาบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่ เคยนำน้องตัวอื่นๆมาบริจาคก่อนหน้านี้ไหมครับ
คุณวันวิสาข์ : ขอบคุณค่ะ ก็ผูกพันกันมากค่ะ เพราะอยู่ใกล้ชิดกันมานานมาก เห็นกันทุกวัน ก็คิดถึงเขาเวลาเขาจากไป ส่วนการนำซากน้องมาบริจาคนั้น ต้องบอกว่านี่คือครั้งแรกค่ะ เพราะที่ผ่านๆ มานั้น เมื่อสัตว์เลี้ยงตายลง เราก็จะฝังเขาไว้ในบริเวณบ้าน จนวันหนึ่งทราบว่าคณะสัตวแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ต้องการซากสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาของนิสิตสัตวแพทย์ หรือที่เรียกว่านำไปเป็นอาจารย์ใหญ่ก็จึงนำซากน้องมาบริจาค เพราะคิดว่าน้องจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนิสิต และเพื่อเป็นการทำบุญให้กับน้องหมา
● ก่อนที่จะนำซากน้องหมามาบริจาคเคยได้ทราบข่าวเรื่องอาจารย์ใหญ่บ้างไหมครับ
คุณวันวิสาข์ : เคยทราบบ้างค่ะ แต่เนื่องจากเราเห็นว่าที่บ้านมีบริเวณ ก็เลยฝังร่างเขาในบ้าน แต่มาระยะหลังทราบว่าการบริจาคซากน้องหมาให้เป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับนิสิตสัตวแพทย์ จะช่วยพัฒนาการศึกษาด้านสัตวแพทย์ได้มากขึ้น และเป็นการช่วยเหลือให้สัตว์อื่นๆ ได้รับการรักษาดูแลดีขึ้น ก็จึงนำน้อง
มาบริจาค
● ช่วยเชิญชวนให้คนที่ยังไม่ทราบถึงคุณประโยชน์ของการบริจาคซากสัตว์เลี้ยงเพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ใช้ศึกษา เพื่่อจะได้สำเร็จการศึกษาไปเป็นสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในอนาคต เพราะยังมีบางคนเข้าใจผิดๆ ว่าการนำซากน้องไปบริจาค จะทำให้น้องไปเกิดใหม่แล้วมีร่างกายไม่สมบูรณ์ เพราะในการศึกษาซากอาจารย์ใหญ่ต้องผ่าชำแหละเพื่อเรียนรู้อวัยวะภายในทุกส่วน
คุณวันวิสาข์ : จริงๆ แล้วต้องขอบอกว่า การบริจาคร่างของสัตว์เลี้ยงให้คณะสัตวแพทย์นำไปใช้ศึกษาคือการให้ประโยชน์ทางการศึกษากายวิภาคศาสตร์ของสัตว์เลี้ยงที่ดีที่สุด ทำให้นิสิตสัตวแพทย์สำเร็จการศึกษาไปเป็นสัตวแพทย์ที่มีความรู้จริง และเชี่ยวชาญ จนสามารถรักษาดูแลสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีในอนาคต เพราะฉะนั้น ขอเชิญชวนให้นำซากของน้องหมาที่คุณรักไปบริจาคเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่นะคะ นอกจากช่วยส่งเสริมการศึกษาด้านสัตวแพทย์แล้ว ยังเป็นการสร้างบุญให้น้องอย่างมาก แล้วเมื่อซากของอาจารย์ใหญ่ถูกใช้เพื่อการศึกษาจนเรียบร้อยแล้ว ทางคณะสัตวแพทย์ก็จัดพิธีทำบุญอุทิศกุศลให้กับอาจารย์ใหญ่ และเชิญให้เจ้าของน้องที่เสียชีวิตไปแล้วมาร่วมงานด้วย เราคิดว่านี่คือการทำบุญทำกุศลที่สำคัญให้กับน้อง และเชื่อว่าน้องที่จากไปก็จะยินดีที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาด้วย แล้วที่สำคัญคือจะช่วยให้สัตวแพทย์มีข้อมูลสำหรับรักษาสัตว์อื่นๆในอนาคต ขอเชิญชวนนำสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตมาบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่นะคะ บริจาคร่างของน้องหมาเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ง่ายมาก ไม่ยุ่งยากเลย แค่ติดต่อกับแผนกรับบริจาคร่างของสัตว์เลี้ยงในโรงพยาบาลสัตว์เกษตรฯก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันที ยิ่งหากมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตรฯ ก็ยิ่งสะดวกมากขึ้น เพราะมีประวัติเดิมอยู่แล้ว แต่หากเคยรักษาที่อื่น ก็ขอให้นำประวัติการรักษาของน้องหมาไปด้วย เพื่อง่ายต่อการดำเนินการต่อไป ขอเชิญชวนบริจาคร่างของสัตว์เลี้ยงเพื่อการศึกษาด้านสัตวแพทย์นะคะ
คุณนฤภร ดำรงกิจเจริญ, คุณอิสริยาพร พุทธวงษ์
นิสิต ปี 2 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
● สวัสดีครับ เรียนถามพิธีการไหว้ครู และการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ของนิสิตในวันนี้ครับ ช่วยเล่าให้ฟังว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างครับ และคิดว่าจะช่วยสืบสานกิจกรรมนี้ไหมครับ
คุณอิสริยาพร : โดยส่วนตัว หนูยืนยันว่าต้องสืบสานประเพณีไว้ต่อไป เพราะการไหว้ครู คือการแสดงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ที่ให้ความรู้กับนิสิต และเป็นโอกาสที่รุ่นพี่รุ่นน้องได้มาพบปะกัน และได้แสดงความเคารพต่อครู ส่วนการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์ใหญ่ก็สำคัญมาก เพราะเป็นการแสดงความกตัญญูและเคารพต่ออาจารย์ใหญ่ ที่ให้ร่างกับนิสิตเพื่อศึกษาด้านสัตวแพทย์ และเชื่อว่าประเพณีนี้จะสืบต่อไปตลอดค่ะ
● ตามปกติ นิสิตสัตวแพทย์ปีไหนจะได้เริ่มผ่าซากของสัตว์หรืออาจารย์ใหญ่ ครับ
คุณนฤภร : เมื่อเรียนปี 1 เทอม 2 ค่ะ นิสิตจะได้เรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในวิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นการเรียนเกี่ยวกับสัตว์ที่ตายโดยปกติ ไม่มีโรคภัยร้ายแรงใดๆ เพื่อให้นิสิตเห็นว่าสัตว์ปกติจะมีร่างและอวัยวะเป็นแบบนี้ โดยสัตว์ส่วนใหญ่ที่เป็นอาจารย์ของนิสิต คือร่างของอาจารย์ใหญ่ที่อาจารย์จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ประเมินแล้วว่าสามารถใช้เพื่อการศึกษาได้ เพื่อให้นิสิตได้เห็นอวัยวะต่างๆ กล้ามเนื้อ และโครงสร้างของสัตว์โดยรวมทั้งร่าง
● ช่วยเล่าความรู้สึกเมื่อผ่าร่างของอาจารย์ใหญ่ในครั้งแรกของชีวิตนิสิตสัตวแพทย์ครับ
คุณอิสริยาพร : ยังจำความรู้สึกของการได้พบร่างและได้ผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ได้ดีจนทุกวันนี้ค่ะตื่นเต้นมาก และรู้สึกขอบคุณมาจนทุกวันนี้ เป็นการเรียนหลังจากนิสิตได้ผ่านภาคทฤษฎีแล้ว ก็เข้าไปเรียนกับร่างของอาจารย์ใหญ่ ซึ่งช่วยให้นิสิตเห็นของจริง ได้สัมผัสจริงๆ ได้กรีดมีดผ่าตัดลงไปจริงๆ จำได้ไม่ลืมเลยค่ะ และขอบคุณตลอดเวลาค่ะ ถือว่าเป็นประโยชน์และมีบุญคุณต่อหนูและนิสิตสัตวแพทย์ทุกคนจริงๆ ค่ะ
● การได้พบกับของจริง เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างไรบ้างครับ
คุณนฤภร : ตามปกติการเรียนทุกวิชาไม่สามารถใช้ความรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต้องใช้การลงมือทำจริงๆ ด้วย เพื่อให้เกิดความรู้จากการปฏิบัติจริงหนูรู้สึกได้เลยว่าการที่นิสิตได้ทดลองลงมือผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ด้วยมือของนิสิตเอง มันคือการเรียนที่ผ่านการปฏิบัติจริง ทำให้ได้ความรู้ที่มากขึ้น ได้พบของจริง ได้ทดลองจริงๆ เมื่อนำความรู้ตรงนี้ไปประกอบกับทฤษฎี ก็ช่วยให้เห็นได้จริงมากขึ้น ทำให้เข้าใจมากขึ้น ต้องขอบคุณทุกท่านที่นำร่างของอาจารย์ใหญ่ไปบริจาคให้นิสิตได้เรียนกับของจริง นิสิตทุกคนระลึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ และผู้บริจาคร่างอาจารย์ใหญ่ตลอดเวลา และพวกเราก็ตั้งใจเรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างมาก
● ช่วยกล่าวเชิญชวนให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำซากหรือร่างของสัตว์ที่ตายแล้วไปบริจาคเพื่อการศึกษาด้วยครับ
คุณอิสริยาพร : หนูเชื่อมั่นว่าร่างของอาจารย์ใหญ่1 ร่างที่ได้รับบริจาคมา ช่วยให้นิสิตทุกคนที่เรียนในคณะสัตวแพทย์ทุกแห่งได้ประโยชน์ทางการศึกษามหาศาล ช่วยทำให้พวกหนูที่จะเป็นสัตวแพทย์มีความรู้จริง และสามารถช่วยเหลือสัตว์ที่เจ็บป่วยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ ร่างของอาจารย์ใหญ่ช่วยให้สัตวแพทย์มีคุณภาพในการทำงานต่อในอนาคตดียิ่งๆ ขึ้นไปค่ะ ขอเชิญชวนนำร่างของสัตว์เลี้ยงที่ตายแล้วบริจาคเพื่อการศึกษาค่ะ
คุณนฤภร : หนูรู้สึกว่าการเรียนสัตวแพทย์นั้น นอกจากเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังต้องบูรณาการกับสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวันด้วย หนูเห็นว่าการที่หนูได้ทดลองผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ด้วยตัวเอง ทำให้หนูเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ที่เรียนจากทฤษฎีได้มากยิ่งขึ้น เพราะได้เห็นของจริง ได้ผ่าจริงๆ ขอบอกว่านิสิตสัตวแพทย์ทุกคนเป็นหนี้บุญคุณอาจารย์ใหญ่ ร่างของอาจารย์ใหญ่1 ร่าง ช่วยทำให้วงการสัตวแพทย์ไทยพัฒนาไปได้ไกลมากขึ้นค่ะ ขอเชิญชวนนำร่างสัตว์เลี้ยงของคุณบริจาคให้นิสิตสัตวแแพทย์ได้ใช้ศึกษานะคะ
คุณปาณัสม์ รุ่งนิรันดรกุล และคุณศุภวิชญ์ นิลนุ้ย
นิสิต ปี 2 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
● น้องๆ เรียนอยู่ชั้นปี 2 แสดงว่าเพิ่งได้มีโอกาสผ่าร่างของอาจารย์ใหญ่มาเมื่อไม่นานนี้เอง ก่อนจะเข้าไปใน LAB ผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ ต้องเตรียมตัวอะไรบ้างครับ
คุณปาณัสม์, คุณศุภวิชญ์ : ตื่นเต้นมากครับ ทั้งๆ ที่เตรียมตัวมาดีแล้ว ก็ยังตื่นเต้นมาก การเตรียมตัวในครั้งแรกของการผ่าร่างอาจารย์ก็คือต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ดูภาพประกอบเยอะมาก แล้วก็เตรียมตัวอย่างดี แต่ก็ยังตื่นเต้นมากครับ การได้ผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ครั้งแรกของผม ทำให้ผมจำได้จนทุกวันนี้ เพราะอาจารย์ใหญ่ของผมตัวอ้วนมาก ไขมันเยอะ ผ่ายากพอสมควร ต้องเลาะไขมันออกก่อน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผมครับ
● การเลือกอาจารย์ใหญ่ให้นิสิตที่เพิ่งเริ่มผ่าครั้งแรก จะเลือกร่างที่ตายด้วยสาเหตุใดให้ใช้ผ่าครับ
คุณปาณัสม์ : ใช้ร่างที่ไม่ได้ตายด้วยโรคต่างๆ ครั้ง เพราะต้องการให้นิสิตได้เห็นร่างที่ปกติ ไม่มีโรคภัยต่างๆ จะได้ดูอวัยวะ และกล้ามเนื้อที่เป็นปกติได้ครับ เพื่อจะได้เอาไว้เปรียบเทียบเมื่อนิสิตได้เรียนในชั้นสูงขึ้น เมื่อต้องไปเจอกับร่างที่ตายด้วยโรคภัยและความผิดปกติอื่นๆ ครับ
● เท่าที่พอทราบ มีปัญหานิสิตขาดแคลนร่างอาจารย์สำหรับการศึกษาไหมครับ
คุณปาณัสม์ : เท่าที่ผมทราบ ในคณะของเรายังไม่มีปัญหาขาดแคลนนะครับ แต่ก็ยังอยากเชิญชวนให้ท่านที่ต้องการช่วยสนับสนุนการเรียนของคณะสัตวแพทย์ นำร่างของสัตว์เลี้ยงที่ตายแล้วไปบริจาคให้เราครับ เพราะเป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาของนิสิตมากจริงๆ ครับ
● ร่างอาจารย์ใหญ่ให้ประโยชน์อย่างไรกับการศึกษาสัตวแพทย์ครับ
คุณปาณัสม์ : ร่างของอาจารย์ใหญ่ช่วยให้พวกเรา นิสิตสัตวแพทย์ใช้เพื่อศึกษากายวิภาคศาสตร์ของสัตว์เลี้ยงได้ดีที่สุดครับ วิชาด้านกายวิภาคศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากของการเรียนในคณะของเรา เป็นพื้นฐานการศึกษาของสัตวแพทย์ และเป็นประโยชน์มากมายต่อการรักษาเพื่อช่วยชีวิตสัตว์อื่นๆ ในอนาคต
คุณศุภวิชญ์ : ผมอยากขอเชิญชวนคุณพ่อ คุณแม่ของน้องๆ สัตว์เลี้ยงครับ เมื่อน้องๆ หรือลูกๆ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงตายลง ขอให้ช่วยนำร่างสัตว์ให้กับคณะสัตวแพทย์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาของพวกเราครับ ขอเรียนว่าร่างอาจารย์ใหญ่มีประโยชน์ต่อการศึกษาของสัตวแพทย์มากครับ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของ
การเรียน แล้วช่วยให้สามารถเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป จนถึงชั้นคลินิกครับ เราทุกคนในฐานะนิสิตสัตวแพทย์สัญญาว่าจะใช้ร่างอาจารย์ใหญ่นี้ให้ดีและเกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการรักษาดูแลสัตว์อื่นๆบนโลกใบนี้ครับ
● ร่างอาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง ใช้ในการศึกษานานกี่ภาคการศึกษาครับ
คุณศุภวิชญ์ : เราใช้ซากเดิมในการศึกษา 1 ปีครึ่งครับ โดยการเก็บรักษาไว้ในถังดองฟอร์มาลีน นิสิตได้เรียนรู้ทุกส่วนของร่างอาจารย์ใหญ่ ทั้งอวัยวะต่างๆ ระบบกล้ามเนื้อ และระบบหายใจ เส้นเลือด เส้นประสาท ระบบทางเดินอาหาร และทุกระบบของสัตว์ครับ เมื่อศึกษาร่างจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จัดพิธีทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ครับ โดยทำเป็นประจำทุกปี
● ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ทำให้เห็นอวัยวะ และระบบต่างๆ ในตัวสัตว์ได้มากกว่าเดิมคิดว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะเข้ามาแทนที่ความสำคัญของอาจารย์ใหญ่ได้หรือไม่ครับ
คุณปาณัสม์ : ผมมั่นใจว่าร่างจริงๆ ของอาจารย์ใหญ่เป็นประโยชน์ต่อนิสิตมากกว่าครับ เรื่องของเทคโนโลยีอาจจะช่วยด้านการศึกษาเชิงทฤษฎีได้แต่ไม่สามารถทดแทนของจริงๆ ได้ครับ นิสิตสัตวแพทย์ยังจำเป็นต้องเรียนกับร่างจริงของอาจารย์ใหญ่ครับ ส่วนพวกภาพ animation หรือ visualized ทั้งหลายช่วยเป็นแนวทางการศึกษาของพวกเราครับ ช่วยให้เรารู้ตำแหน่งของอวัยวะได้ในยามที่เรายังเรียนทฤษฎีครับ แต่ร่างจริงของอาจารย์ใหญ่ช่วยให้เราทำงานในชีวิตจริงได้อย่างถูกต้องแม่นยำครับ เป็นประโยชน์ต่อวงการสัตวแพทย์ในอนาคตอย่างมากครับ
● จะฝากบอกอะไรถึงคนที่อยากเรียนสัตวแพทย์ครับ ต้องเตรียมตัวอย่างไรต้องเจออะไรบ้าง ต้องทำใจอะไรบ้างเมื่อได้เข้ามาเรียนจริงๆ
คุณศุภวิชญ์, คุณปาณัสม์ : ผมเห็นว่าการเรียนสัตวแพทย์ ไม่ใช่เรื่องเรื่องยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่ายมาก หากเราตั้งใจจริง เราก็สามารถเรียนได้จนสำเร็จ แต่ต้องมีใจรักสัตว์ก่อนเป็นอันดับแรกนะครับ อย่าลืมว่าสัตวแพทย์ก็คือแพทย์ที่รักษาสัตว์ ก็ต้องมีความรู้ความชำนาญในด้านทฤษฎีและปฏิบัติจริง ต้องอ่านตำรามาก ต้องลงมือทำให้จริงจัง ต้องขยันออกค่ายเพื่อฝึกฝนและหาความรู้จริงๆ ขอบอกว่าการฝึกงานจริง เป็นประโยชน์มากต่อสัตวแพทย์ สำหรับที่คณะสัตวแพทย์ เกษตรฯ มีค่ายฝึกงานมากมาย ได้พบเจอกับสัตว์มากมาย เช่น หมู ไก่ วัว ควาย หมา แมว และสัตว์อื่นๆ เช่น สัตว์น้ำ สัตว์ปีก และสัตว์ทุกชนิดมีอะไรให้เรียนรู้มากมาย ไม่รู้จบ หากคุณสนใจจะมีอาชีพสัตวแพทย์ ก็เตรียมตัวสอบให้ดี แล้วเราจะได้มาร่วมอาชีพรักษาสัตว์ด้วยกันครับ
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น.ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี