
อ.รัฐศาสตร์ มช. ชวนคนไทยเลือกกันเอง ‘เมนูอาหารถิ่น’ ไม่ต้องสน สวธ. เมินเสียง ปชช.
สืบเนื่องกรณีเกิดประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ เมื่อปรากฏเอกสารของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรณี Thailand best local food-รสชาติที่หายไป The lost taste-1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น โดยชาวจังหวัดต่างๆ ออกมาแสดงความเห็นหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทาง ‘ไม่เคยได้ยิน’ ‘ไม่เคยกิน’ หรือ ไม่ควรเป็นเมนูดังกล่าว
ต่อมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นการเชิดชูเมนูที่หายไป ไม่ใช่อาหารประจำจังหวัดแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) 29 สิงหาคม 2577 เรื่อง “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ควรทำอะไรมากกว่านั้น เช่น มีหนังสือออกมาเผยแพร่ขายในราคาคุ้มค่าพิมพ์ อธิบายอาหารแต่ละจังหวัด
1. มีจุดเด่นจุดแข็งตรงไหน
2. มีความเป็นมาอย่างไร
3. ได้ข้อมูลจากไหน เพราะหลายจังหวัดใหญ่มาก อาหารบางอย่างไม่ใช่ตัวแทนจังหวัดแน่นอน
4. วิธีทำ และวัสดุมีอะไรบ้าง
5. ตนขอเรียกร้องให้แต่ละท่านที่รู้จักอาหารนั้นๆในจังหวัดของท่าน โปรดเขียนมาแนะนำผู้อ่านด้วยครับว่า อาหารที่สวธ. เลือกมาเหมาะหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ท่านมีข้อสังเกตอะไรหรือไม่ ทำไมจึงได้หรือทำไมจึงตัดสินผิดไป อะไรควรเป็นอาหารประจำอำเภอหรือจังหวัดที่เหมาะสมในความคิดเห็นของท่าน ฯลฯ
“กรณีอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ ผมมีข้อสังเกตดังนี้ ต๋ำจิ๊นแห้ง
1. อาหารประจำจังหวัดและอำเภอ ถ้าจะวัดจากความเห็น ควรรอตอนเลือกตั้ง สส.หรือเลือกนายก อบจ. ให้คนมาโหวต
2. อาหารต๋ำจิ๊นแห้งหายไป 40 ปีแล้วอย่างน้อยเพราะหลายปัจจัย
3. อาหารชนิดนี้ คนในเขตเมืองไม่ทำนานนักแล้ว เหลือแต่ครอบครัวคนขายเนื้อ คงเก็บเศษเนื้อเหลือไว้บ้าง
พวกส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ปาก แต่ไม่ลงหามวลชน ไม่ฟังเสียงประชาชน เราก็ไม่สนใจพวกเขาเหมือนกันครับ เรามาทำของเราเองดีกว่า” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ระบุ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ ระบุต่อไปว่า 40 กว่าปีมานี้ นับแต่เพลง “ของกิ๋นบ้านเฮา” 2 ภาค (บรรจุชื่ออาหารล้านนา 60 กว่าชนิด ซึ่งขาดอีกหลายร้อยชื่อ) เกิดเป็นเพลงดัง ความสนใจในอาหารพื้นบ้านก็เพิ่มขึ้นๆๆๆเป็นลำดับ
“พร้อมกันนั้น หลายคนก็ได้ตระหนักว่า อ๋อ ใช้วัสดุในพื้นถิ่น ราคาประหยัด ปลอดสารพิษ มีคุณค่าเป็นยารักษาโรค และหนุนช่วยเศรษฐกิจชาวบ้าน รสชาติก็ถูกปาก และเกิดความภาคภูมิใจในอาหารพื้นบ้านของบรรพชนที่ถูกละเลยมายาวนาน หลงไปกินขนมปัง ครัวซอง โดนัท สเต๊ค พิซซ่า มักกะโรนี และวัตถุดิบนำเข้าสารพัด ฯลฯ
เป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมมากครับ แต่เพราะรัฐไม่ยอมกระจายอำนาจ การศึกษา และวัฒนธรรมไม่ให้ ท้องถิ่นทำ ความรู้จึงจำกัด คนที่ไม่สนใจเสียงเพลง ก็เลยไม่รู้จักงานส่วนกลางจึงทำงานแบบเก่า ฟังนิดๆหน่อยๆแล้วสรุปเอาเอง เอาอาหารคิดใหม่มาอวดเปนอาหารประจำถิ่น เอาอาหารเก่าแก่มาอวด
นี่แหละครับ ทัศนะรวมศูนย์อำนาจ ทัศนะขุนนาง ไม่เคยลงมาทำงานในท้องถิ่น ตกลงประเทศนี้ก็ยังต้องรอคอยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต่อไป
และหากประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่รวมตัวกันผลักดันเรียกร้องการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ การกระจายอำนาจด้านการศึกษา การลดทอนความเป็นราชการของวงการสงฆ์ ก็ยากที่เราจะเห็นท้องถิ่นที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในเร็ววัน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ระบุ
