ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุนัขเพื่อการบริโภคในเกาหลีใต้ราว 200 คน รวมตัวประท้วงใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนเสนอกฎหมายห้ามกินเนื้อหมา ที่แม้รับประทานกันมาหลายศตวรรษ แต่ก็เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากขึ้น
วีโอเอ รายงานว่า การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงโซล โดยมีผู้ประท้วงจำนวนหลายสิบรายพยายามขับรถเข้าไปด้านหน้าทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อปล่อยสุนัขที่ขนมาในกรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบเสียก่อน และได้สั่งให้ถอยออกไป
การประท้วงข้างต้นมีขึ้น หลังพรรครัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดียูน ซุก ยอล ได้นำเสนอกฎหมายที่จะยกเลิกการเลี้ยง และขายสุนัขเพื่อการบริโภค โดยจะมีช่วงเวลาผ่อนผัน 3 ปี และให้มีเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ต้องปิดธุรกิจจากกฎหมายดังกล่าว
ปัจจุบัน เกาหลีใต้ ที่มีประชากรทั้งประเทศราว 51 ล้านคน มีมากกว่า 6 ล้านครัวเรือนมีสุนัขอยู่ด้วยในฐานะสัตว์เลี้ยง โดยประธานาธิบดียูน และภริยาเอง ก็เลี้ยงสุนัขถึง 6 ตัว
ขณะที่ ผลสำรวจของแกลลัพ โพล ก่อนหน้านี้ ระบุว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 64% คัดค้านการบริโภคเนื้อสุนัข และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 8% เท่านั้นที่ได้กินเนื้อสุนัขในช่วงปีที่ผ่านมา น้อยกว่าเมื่อปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 27%
นายจู ยอง บอง ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมฟาร์มเนื้อสุนัข ที่นำการประท้วงครั้งนี้ กล่าวว่านักการเมืองไม่มีสิทธิ์ที่จะมาปิดธุรกิจ หรือตัดสินใจแทนประชาชนว่าควรกินอะไร
“เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การกินเนื้อสุนัขเป็นเรื่องป่าเถื่อน เพราะทุกประเทศมีขนบธรรมเนียมในด้านการปศุสัตว์ ที่บางจุดก็ไปถึงการกินเนื้อสุนัข และก็ยังมีบางประเทศที่เป็นแบบนั้นอยู่”
เขาบอกด้วยว่า กลุ่มฟาร์มเลี้ยงสุนัขเพื่อบริโภค ถูกกันออกจากการหารือในเรื่องกฎหมายดังกล่าว และการชดเชยทางการเงินก็ไม่เพียงพอกับความสูญเสียของพวกเขา
แม้การกินเนื้อสุนัขจะได้รับความนิยมลดลง แต่ก็มีความพยายามจากบรรดาฟาร์ม และเจ้าของร้านอาหารที่ยังขายเมนูเนื้อสุนัข ที่จะทำให้การบริโภคเนื้อชนิดนี้ไม่ผิดกฎหมาย พวกเขายังกล่าวหาภริยาของผู้นำประเทศ ที่คอยวิจารณ์การกินเนื้อสุนัขว่า ใช้แรงกดดันอย่างไม่เหมาะสมในการทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายดังกล่าว
ทางด้านทำเนียบประธานาธิบดี ออกแถลงการณ์ในประเด็นข้างต้น ระบุว่า สุภาพสตรีหมายเลยหนึ่งพูดถึงปัญหาดังกล่าวด้วยความสนใจอย่างยิ่ง และก็มีเสียงสนับสนุนอย่างเป็นฉันทานุมัติจากทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม