สำรวจธุรกิจร้านอาหารไทยในปี 2566 มีมูลค่ากว่า 4.20 แสนล้านบาท กลับมาคึกคัก นับเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่ผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหม่ และรายเล็กๆ สนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก โดยมีการเปิดสาขาใหม่กว่า 1 แสนร้านค้า แต่พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี และใน 3 ปี จะมีการปิดตัวไปถึง 65% เลยทีเดียว แสดงถึง การแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง สมรภูมิเรดโอเซียน
“ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้มีการเปิดใหม่จำนวนมากกว่า 1 แสนร้านค้า แต่การอยู่รอดในธุรกิจอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากสถิติที่พบว่า มีการอยู่รอดเพียง 50% ในปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นในเวลาสามปี การอยู่รอดก็ลดลงไปอีก
โดยเป็นธุรกิจอาหารที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย และมีการกีดกันน้อยในตลาด แต่การอยู่รอดในระยะยาวจะยิ่งยาก โดยการทำธุรกิจอาหาร มีต้นทุน 3 ด้านที่ต้องพิจารณาให้ดีคือ ต้นทุนจากพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ และต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ แต่หากมีพื้นที่ของตัวเองจะเป็นผลดีทำให้ต้นทุนลดลงได้ ดังนั้นต้องบริหารจัดการทั้ง 3 ด้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
หากประเมินธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 5-6% เป็นตลาดที่มีมูลค่ากว่า 4.20 แสนล้านบาทแล้ว ได้รับปัจจัยบวกทั้ง การเปิดสาขาใหม่ของผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น แต่ทั้งนี้ตลาดมีโอกาสขยายตัวถึงระดับ 8-9% จากช่วงปลายปีนี้หากสถานการณ์โดยรวมมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง
เทรนด์ธุรกิจอาหารในปี 2567 มี 5 เรื่องหลักได้แก่
1. Eating experience การรับประทานอาหารที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า และทำให้เกิดการส่งต่อ แชร์เรื่องราวรูปภาพผ่านโซเชียล พร้อมกับการนำเสนอแบรนด์สตอรี่ กับที่มาของวัตถุดิบต่างๆ เพื่อร่วมมอบเรื่องราวใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า เช่น ผักชี หรือ นำในการหุงข้าว มาจากสถานที่ใด เป็นต้น โดยเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจในต่างประเทศ
2. Food Gathering การรับประทานอาหารที่ทำให้ลูกค้าได้มาพบปะกัน และเกิดการสังสรรค์ระหว่างกลุ่มเพื่อนๆ สร้างบรรยากาศแห่งความสุขในร้าน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทุกคนต่างใช้ชีวิตอยู่กับบ้านจากโควิด จึงต้องการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทำให้เทรนด์ของร้านอาหารปิ้งย่าง และชาบู มาแรง
3. Upcycling and Sustainable Foods การเลือกทานอาหารที่ร่วมสร้างความยั่งยืน และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ เช่น อยากทราบที่มาของการผลิตอาหารว่ามีถูกสุขลักษณะ และไม่ทำรายสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เรื่อง โลว์คาร์บอน การนำเสื้อสัตว์มาทำอาหารที่ไม่ใช่วิธีการทรมานสัตว์ เป็นต้น
4. Health & Wellness Cuisine การนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นผลดีต่อร่างกาย รวมถึงกลุ่มลูกค้าในแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น การผลิตอาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น ที่ต้องการอาหารที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และการดูแลป้องกันโรคต่างๆ
5. Digitalization การมุ่งดิจิทัลและใช้เทคโนโลยี มาบริหารจัดการ บริหารระบบภายใน เพื่อเป็นช่องทาง สร้างธุรกิจขยายตัว ทั้งการลงทุนพัฒนาระบบในเรื่อง คิวอาร์โค้ด ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก การใช้หุ่นยนต์ มาร่วมให้บริการ หรือผลิตอาหาร เช่น ในต่างประเทศ มีการใช้แขนของหุ่นยนต์ มาร่วมผลิตเครื่องดื่มกาแฟ เป็นต้น
The next chapter เซ็นทรัล เรสตอรองส์ เร่งสร้างพาร์ทเนอร์ชิป
สำหรับ The next chapter ของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ที่ได้ดำเนินธุรกิจมาร่วม 45 ปีแล้ว ในปัจจุบันมีพอร์ตโฟลิโอแบรนด์หลักภายใต้การบริหารรวมกว่า 20 แบรนด์ จำนวนสาขากว่า 1,500 สาขา และมีพนักงานมากกว่าหมื่นคน โดยแนวทางการบริหารธุรกิจในปีต่อไป จะขยายธุรกิจในรูปแบบการมี พาร์ทเนอร์ชิป (partnership) มากขึ้น เพื่อให้สามารถผสาน synergy ของความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จากบริษัทที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการร้านอาหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับการขยายสาขา
โดยที่ผ่านมา มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย ทั้ง ชินคันเซ็น สลัด แฟคทอรี่ เป็นต้น โดยชินคันเซ็น ซูชิ ได้มีการเปิดแบรนด์ใหม่ “นักล่าหมูกระทะ” ในปัจจุบันมี 3-4 สาขา มีแผนเปิดสาขาใหม่ 20-30 สาขาในระยะต่อไป รวมถึงร้าน สลัด แฟคทอรี่ ที่ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ มีแผนการขยายโปรดักส์ใหม่
เกมรุกขยายสาขาในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ วางแผนเปิดสาขาใหม่ของธุรกิจร้านอาหารในเครือประมาณ 30 สาขา โดยภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไตรมาสที่สี่ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างคึกคัก คาดว่ามีการเติบโต 20% จะเป็นช่วงที่มีการขยายตัวสูงสุดในรอบปี ได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาในประเทศไทยด้วย และเป็นช่วงเวลาในการเฉลิมฉลองต่างๆ เป็นหน้าไฮซีซั่นของการใช้จ่าย
ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจในปี 2567 มีแผนที่ขยายธุรกิจในรูปแบบการซื้อและควบรวมกิจการ หรือ M&A ประมาณ 1-2 แบรนด์ รองรับการเติบโตของธุรกิจอาหารในระยะยาว รวมถึงการขยายสาขาใหม่ๆ ของแบรนด์ในเครืออย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ อย่าง AI เป็นต้น พร้อมศึกษาแผนการขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ อย่างในประเทศเวียดนาม ที่มีการศึกษามาโดยตลอด
“บริษัทได้มีการปรับตัวในระบบหลังบ้าน ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยหากมีแบรนด์ใหม่ ต้องมีระบบที่สามารถรองรับ การบริหารจัดการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด”
เป้าหมายของบริษัทในระยะยาว ต้องการสร้างธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน ให้สอดรับกับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ในโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่าง ภาวะโลกร้อนขึ้น ผสมด้วยการนำดิจิทัลมาใช้ เพื่อรองรับสถานการณ์และปัจจัยเรื่องค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมรักษาพัฒนาคุณภาพและบริการต่างๆ ให้ดีที่สุด พัฒนาต่อไป หยุดไม่ได้ ตามการแข่งขันในตลาดมีมากขึ้น