Key Point :
- ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยคาดว่า ปี 2583 มีสูงวัยกว่า 20.51 ล้านคน หรือ 31.37%
- สวนทางกับจำนวนวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น
- สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ไทยต้องเตรียมพร้อม ไม่ใช่แค่การเข้าถึงการรักษาโรค แต่ต้องป้องกันสุขภาพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
สถานการณ์สูงวัยในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2562 โครงสร้างประชากรไทย ปี 2548 – 2583 พบว่า จากปี 2548 มีผู้สูงอายุ 6.76 ล้านคน หรือ 10.38% ขณะที่ 2566 มีผู้สูงอายุกว่า 13.5 ล้านคน หรือ 20.17% คาดว่าปี 2576 จะมีผู้สูงอายุราว 18.38 ล้านคน หรือกว่า 28.0% และปี 2583 มีสูงวัยกว่า 20.51 ล้านคน หรือ 31.37% จำนวนวัยเด็กและวัยแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต สะท้อนถึงสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น
ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวในช่วงเสวนาหัวข้อ การมี ‘A Road to Lifelong Well-Being’ สุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว ภายในงานประชุมวิชาการร่วมประจำปี 2566 ‘BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023’ โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสึนามิประชากร มีผู้สูงอายุที่อยู่ในยุคเด็กเกิดปีละล้านคน และคนกลุ่มนี้จะมีอายุ 60 ปี ตั้งแต่ปี 2566 แปลว่าเราจะมีสูงวัยเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ฐานโครงสร้างประชากรจะกลายเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ ปี 2566 มีสูงวัยกว่า 20% เป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ขณะเดียวกัน ในปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิต และสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ต่อไปประชากรจะลดลง สูงวัยเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2576 มีสูงวัย 60 ปี กว่า 28% กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หญิงไทยมีโอกาสมีลูก 1.1 คน ถือว่าค่อนข้างต่ำ ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป”
สูงวัย 6.8% อยู่ใต้เส้นความยากจน
นอกจากสูงวัยเพิ่มขึ้น สิ่งที่ค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับสูงวัย คือ สูงวัยจะอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น จาก 3.6% ในปี 2537 เป็น 12% ในปี 2564 และมีสูงวัยอยู่กับสูงวัยกว่า 24% เกิดคำถามว่า เราพร้อมจะสร้างสิ่งแวดล้อมรองรับอย่างไร เมื่อสูงวัยต้องอยู่ด้วยกันหรือต้องอยู่ตามลำพัง
ขณะที่ ความมั่นคงด้านรายได้ มีการศึกษารายได้สูงวัย 2545 – 2564 พบว่า เดิมรายได้จากลูกหลานเป็นสัดส่วนที่มีความสำคัญ 58% ในปี 2545 และลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันอยู่ที่ 32% ที่พึ่งรายรับจากลูกหลาน และอีกส่วนหนึ่งพึ่งเบี้ยยังชีพ 19-20% จำนวน 600-800 บาทต่อเดือน สัดส่วนสูงวัยอยู่ใต้เส้นความยากจนกว่า 6.8% สิ่งสำคัญ พบว่า สูงวัยจำนวนหนึ่ง มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่ในปัจจุบัน
“สูงวัยวัยต้นอายุราว 60-69 ปี ราว 50% ที่ต้องทำงานอยู่และเป็น Active Citizen ทำอย่างไรให้สูงวัยวัยต้นนี้ สามารถมีผลิตภาพ (Productivity) กับสังคม เป็นโจทย์ที่สำคัญ และ สิ่งที่กังวล คือ เรื่องการออม สูงวัยกว่า 45.7% ไม่มีเงินออมและมีหนี้สิน ขณะเดียวกัน 54.3% มีเงินออมน้อยกว่า 50,000 บาท”
ทำอย่างไรให้สูงวัยคุณภาพชีวิตดี
ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อไปว่า สภาพัฒน์มีแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (2565 – 2580) เกิดดี อยู่ดี แก่ดี ทำอย่างไรให้สูงวัยมีชีวิตอยู่ในไทย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องประกอบด้วยนโยบายในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ทำอย่างไรให้สูงวัยสามารถได้รับการสนับสนุน มีโอกาส มีงานทำ สร้างรายได้ ทั้งนี้ คำว่าสูงวัยที่กำหนดไว้อายุ 60 ปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน สูงวัยยังทำงาน ดังนั้น เรื่องของสูงวัยเป็นเรื่องท้าทายอาจจะต้องนิยามใหม่
“ขณะที่การพัฒนาระบบรองรับสูงวัยในอนาคต เรื่องของ ทำอย่างไรให้สูงวัยไม่ต้องมาที่สถานสงเคราะห์คนชรา สามารถอยู่บ้าน ชุมชน มีรายได้ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้สูงวัยมี Life Long Well-being ต่อไป”
6 ประเด็นความท้าทายสูงวัย
ด้าน ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากมุมมองของ WHO พบว่า มิติสูงวัยเปลี่ยนไป โดย 6 ประเด็นความท้าทาย จาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่
- โครงสร้างประชากร ที่ทำให้สูงวัยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปัญหาสุขภาพ เรื้อรัง กาย ใจ
- นวัตกรรมที่อาจจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง สูงวัยหลายคน หรือกำลังจะสูงวัย บางคนอาจจะไม่สนใจดิจิทัล พอผ่านไปไม่นาน 5 ปีก็จะตามไม่ค่อยทัน
- ด้านสังคม ขาดความเตรียมพร้อม ครอบครัวเล็กลง คนมีบุตรน้อยลง ผู้สุงวัยอยู่ลำพังมากขึ้นขาดผู้ดูแล
- ด้านที่พักอาศัย บ้านไม่ปลอดภัย บริการสาธารณสุข สภาพแวดล้อม
- เศรษฐกิจ ความต้องการลงทุนน้อยลงและไม่มีเงินออม
ทั้งนี้ UN ให้ความสำคัญ เรื่อง Functional ability ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการขั้นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เข้าถึงบริการสุขภาพ อาหาร แหล่งรายได้ , ความสามารถในการคิด ตัดสินใจได้ ไม่พึงพิงผู้อื่น , การเคลื่อนไหว รวมถึงกิจวัตรประจำวัน , ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนบ้าน , และการมีส่วนร่วมให้ประสบการณ์แก่สมาชิกในครอบครัว หรือ จิตอาสา กิจกรรมอื่นๆ ในสังคม
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 กระทรวงสาธารณสุข มีการคัดกรองในชุมชน โดยการคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ได้แก่ ความคิดความจำ , การเคลื่อนไหวร่างกาย , การขาดสารอาหาร , การมองเห็น , การได้ยิน , การซึมเศร้า , การกลั้นปัสสาวะ , การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และ สุขภาพช่องปาก
“ทั้งนี้ สุขภาพกาย และสุขภาพใจ เป็นเรื่องเชื่อมกันมานาน สูงวัยที่อายุยืนยาว จะไม่มีปัญหาด้านสุขภาพใจ การนอน สำคัญนอกจากการออกกำลังกายและอาหาร นอกจากนี้ มุมมองต่อชีวิต คนที่มองบวก พบว่าอายุยืนยาว กว่าคนที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องลบ”
สูงวัยแค่ออกกำลังกาย อาหารดี ไม่เพียงพอ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สูงวัย ออกกำลังกาย กินอาหารครบถ้วนไม่เพียงพอ ลักษณะเฉพาะของสูงวัยที่แตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป คือ R-A-M-P-S ได้แก่
- Reduced body reserve พลังสำรองร่างกายลดลง
- Atypical Presentation อาการแสดงที่ไม่แน่นอน
- Multiple Pathology มีหลายโรคในเวลาเดียวกัน
- Polypharmacy ได้รับยาหลายชนิด
- Social Adversity ปัญหาด้านสังคม
10 อันดับแรก ของการสูญเสียปีสุขภาวะในสูงวัย
- หลอดเลือดสมอง
- ปอดอุกั้นเรื้อรัง
- มะเร็งตับ
- หัวใจขาดเลือด
- เบาหวาน
- มะเร็งปอด
- พิการทางการได้ยิน
- ต้อกระจก
- สมองเสื่อม
- ตับแข็ง
Well-being ไม่ใช่แค่การรักษาโรค
ทั้งนี้ ความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-being ไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่ต้องป้องกัน (Primary Prevention) ได้แก่ อา – อ้วน – อารมณ์ดี – ออก – อุ – บาย – หา – เพื่อน – แวดล้อม – ฉีด – ยา
อา – อาหารได้รับสารอาหารที่เหมาะสม
อ้วน – การหลีกเลี่ยงภาวะอ้วน
อารมณ์ดี – การมีสุขภาพจิตที่ดี
ออก – ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อุ – อุบัติเหตุ
บาย – อบายมุข
หา – การตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหรือโรคที่ซ่อนอยู่
เพื่อน – การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
แวดล้อม – สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ปแ
ฉีด – การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ
ยา – การใช้ยาอย่างถูกต้อง
การออกกำลังกาย
สำหรับ การออกกำลังกาย โดย มี 4 แบบ คือ
- การเดิน การจ็อกกิ้ง ซึ่งดีกับหัวใจและปอด
- การเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ เช่น ยกเวท
- การออกกำลังกายที่เพิ่มความยืดหยุ่น เช่น โยคะ
- การทรงตัว ป้อกกันการหกล้ม
BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023
อนึ่ง งานประชุมวิชาการร่วมประจำปี 2566 ‘BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023’ จัดโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ภายใต้แนวคิด ‘A Road to Lifelong Well-Being’ (เส้นทางสู่การมีสุขภาพดีอย่างยืนยาว) โดยมี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารอาวุโส กลุ่ม 1 BDMS ในฐานะประธานการจัดงานประชุมฯ กล่าวต้อนรับ ท่ามกลางบุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจที่มาร่วมประชุมทั้งทางออนไลน์ และผู้ที่เข้าประชุม ณ ศูนย์ประชุมแห่งใหม่ BDMS Connect Center ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
สำหรับงานประชุมวิชาการดังกล่าว ถูกจัดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องกว่า 18 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่สนใจทุกท่าน โดยในปีนี้ งาน BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน 2566 โดยมีแนวคิดหลัก คือ ‘A Road to Lifelong Well-Being’
พญ. ปรมาภรณ์ กล่าวว่า การประชุมในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร BDMS ตระหนักและให้ความสำคัญกับการวางรากฐานและดูแลประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยให้มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาพที่ดี
“BDMS มุ่งเน้นที่จะนำองค์ความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเราเชื่อว่ากลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่สามารถนำประสบการณ์มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับตนเอง คนรอบข้าง และประเทศชาติให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานประชุมวิชาการ BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023 ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป” พญ.ปรมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย