เทเลนอร์โฟกัสไทย ตลาด “มือถือ” ยิ่งขลัง



“เทเลนอร์เอเชีย” (Telenor Asia) ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกหลังปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเอเชีย โชว์ผลสำรวจล่าสุดตอกย้ำว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยยังไม่อิ่มตัว แต่มีแนวโน้มจะขยายยิ่งขึ้นไปอีกอย่างน้อยใน 2 ปีจากนี้ ชี้กำลังเร่งลงทุนเครือข่ายร่วมกับทรูเพื่อขานรับความต้องการให้คนไทยใช้งานไม่สะดุด มั่นใจผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ากับค่าบริการที่จ่ายเพราะใช้มือถือทำงาน-สร้างรายได้-เรียน-เล่นได้ครบเครื่อง

การประกาศผลสำรวจที่ตอกย้ำว่า “ตลาดไทยยังไม่หยุดโต” นี้เกิดขึ้นหลังจากเทเลนอร์เอเชียได้ตะลุยควบรวมกิจการ 2 ครั้งใหญ่ในมาเลเซียและไทย เพื่อสร้างหน่วยธุรกิจที่ใหญ่และแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถทนทานต่อต้นทุนการลงทุนและการแข่งขันในยุค 5G ที่สูงลิ่ว โดยที่ผ่านมา รายได้ในเอเชียของ Telenor นั้นเคยพุ่งสูงสุดในปี 2559 ก่อนที่ธุรกิจในอินเดียและพม่าจะหายวับไป โดยเฉพาะพม่าที่มีผลกำไรสูงแต่ Telenor ถูกบีบให้ลาจากตลาดไปในปี 2564 หลังจากการรัฐประหาร

สำหรับในประเทศไทย เทเลนอร์ได้ควบรวมกิจการดีแทค (DTAC) กับคู่แข่งอย่างทรู (True) เพื่อสู้กับผู้นำตลาดอย่างเอไอเอส (AIS) ซึ่งถือครองคลื่นความถี่ 5G ไว้มากที่สุด การควบรวมกิจการลักษณะนี้เกิดขึ้นในมาเลเซียด้วย นั่นคือดิจิ (Digi) ของเทเลนอร์เอเชียและเซลคอม (Celcom) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับที่เทเลนอร์กำลังเสริมความแข็งแกร่งให้สำนักงานใหญ่ในเอเชีย เพื่อหาจุดยืนให้ตัวเองมีฐานะเป็นผู้เล่นคนสำคัญระดับภูมิภาค แม้ตลาดเอเชียจะยังท้าทายทั้งเรื่องหน่วยงานกำกับดูแล และการเมืองที่ไม่แน่นอน 

***มือถือไทยยังฮอตต่อ

เพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค (Petter-Børre Furberg) รองประธานบริหารและหัวหน้าเทเลนอร์เอเชีย ระบุว่า บริษัทมีนโยบายลงทุนสร้างโครงข่ายในประเทศไทยเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์มือถือมีคุณภาพดียิ่งขึ้นอีก จากเดิมที่มีการลงทุนไปแล้วกว่า 42,000 สถานี เพื่อเพิ่มความเร็วและอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่มีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น ซึ่งการสำรวจของเทเลนอร์เอเชียพบว่าวันนี้คนไทยมีการเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์มากที่สุดในเอเชียรองจากมาเลเซีย

เพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค (Petter-B?rre Furberg) รองประธานบริหารและหัวหน้าเทเลนอร์เอเชีย
“เราอยู่ในเอเชีย 25 ปีแล้ว ความเคลื่อนไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทยคือการควบรวมดีแทคกับทรู เราถือหุ้นใหญ่ในทรูเท่ากับซีพี เราทำวิจัยเพื่อให้รู้ว่าอะไรสำคัญในตลาดโทรคมนาคม จะได้แน่ใจว่าสามารถสร้างบริการได้ตรงตามความต้องการ สำหรับประเทศไทย เราตั้งใจลงทุนเพิ่มความเร็วเครือข่าย อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากที่สุด เพราะประเทศไทยไปทางนี้ คนไทยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ยิ่งในยุค AI คนจะหาความรู้มากขึ้นบนมือถือ”

การสำรวจนี้ของเทเลนอร์มีชื่อว่า Digital Lives Decoded ถือเป็นการสำรวจปีที่ 2 ที่มีการสัมภาษณ์ผู้คนในช่วงหลังโควิด-19 โดยสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่า 8,000 ราย ในประเทศบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กลุ่มตัวอย่างมีทั้งพนักงานในบริษัทสตาร์ทอัป บริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการหลากหลายกลุ่มอายุ เพศ โดยพบว่า 86% ของคนไทยใช้เวลามากกว่าครึ่งวันบนโทรศัพท์มือถือ และเชื่อว่าจะใช้งานเพิ่มขึ้นในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้ากว่า 83%


หนึ่งในผลการสำรวจหลักยังชี้ว่าภาคธุรกิจไทยกำลังเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ในที่ทำงาน พบว่าเกือบสองในสาม หรือ 66% เชื่อว่าการใช้ AI ในที่ทำงานจะเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในเอเชีย ขณะที่โทรศัพท์มือถือถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดย 93% ของคนไทยใช้โทรศัพท์เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงิน และอีกจำนวนมากใช้เทียบราคาสินค้าเมื่อต้องการซื้อ


เพตเตอร์ยกตัวอย่างผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นชนชาวเขา บางรายมีการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือจำหน่ายผลอโวคาโดช่วงโควิด-19 ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า นำไปสู่ความเชื่อมั่นว่าโทรศัพท์มือถือสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้จริง

***5 พื้นที่ทองสมรภูมิมือถือ

1 ใน 5 ส่วนที่ทำให้คนไทยเชื่อว่ามือถือช่วยให้มีชีวิตดิจิทัลที่ดีขึ้นคือส่วนชีวิตไลฟ์สไตล์ เทเลนอร์พบว่าคนไทยใช้มือถือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ส่วนที่ 2 คือการใช้มือถือในการเปิดโอกาสทำงาน ส่วนที่ 3 คือใช้มือถือเพิ่มความปลอดภัย ส่วนที่ 4 คือการใช้มือถือเป็นหนทางหาความรู้ใหม่ และส่วนที่ 5 นั้นน่าสนใจมาก นั่นคือการลดผลกระทบที่มีต่อโลก

คนไทยกว่า 83% เชื่อว่าจะใช้งานมือถือเพิ่มขึ้นในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า
สำหรับข้อค้นพบที่โดดเด่นของคนไทย นอกจากการใช้เวลาบนมือถือนานที่สุดต่อวันแล้ว การเชื่อมต่อบนโซเชียลยังเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดว่าเป็นแรงผลักดันมากขึ้นจากการทำงาน ขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มการใช้งานมือถือมากขึ้นกว่าผู้ชาย ใน 1-2 ปีข้างหน้า

“เมื่อใช้มือถือ ผู้คนจะรู้สึกว่ามีข้อมูลมากขึ้น ตอนนี้หลายคนคิดว่าใช้มือถือเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ บางคนใช้เพื่อติดตามการใช้จ่าย บางคนใช้ลงทุนออนไลน์ บางคนสร้างคอนเทนต์ ซึ่งก็ทำรายได้ด้วย”

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งเชื่อว่ามือถือช่วยให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือทำเงินได้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าอยากเรียนการใช้ด้านการทำงานมากขึ้น การสำรวจจึงไฮไลต์ว่า กลุ่มตัวอย่างคาดหวังว่าเจ้าของกิจการจะสอนการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 จะเปิดรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งแปลว่าคนไทยสนใจโอกาสที่จะมาจากเทคโนโลยีทันสมัยและการพัฒนาใหม่ในอนาคต

“เรื่องนี้สำคัญทั้งต่อนักพัฒนา ต่อผู้เล่นในตลาด และต่อหน่วยงานภาครัฐ ในการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างไม่มีช่องว่าง และคนไทยมีความสนใจอย่างมาก นำหน้าทุกประเทศในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่”

คนไทย “สบายสบาย” เรื่องความปลอดภัย และมีความกังวลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เพตเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่าคนไทย “สบายสบาย” เรื่องความปลอดภัย และมีความกังวลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาค ประเด็นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะแทบทุกคนในประเทศไทยล้วนเคยพบปัญหาหลอกลวง ข่าวปลอม และบูลลี่หรือกลั่นแกล้งออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง

“เราแคร์เด็ก คนแก่ แต่พื้นที่ใหญ่ยังไม่ได้ทำ ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน เพื่อให้ชีวิตออนไลน์ปลอดภัยยิ่งขึ้น” เพตเตอร์ กล่าว

***ได้เวลา “มือถือ” ต้องปลอดภัย

เพตเตอร์สรุปนัยของการสำรวจครั้งนี้ว่าปัจจัยที่ทำให้การใช้การเชื่อมต่อบนมือถือในตลาดไทยยังเติบโตไม่หยุดคือประเทศไทยมีเน็ตเวิร์กคุณภาพดีระดับโลก การใช้งานจึงลื่นไหลให้ประสบการณ์ที่ดี ขณะเดียวกัน คนไทยยังมองว่ามือถือเป็นเครื่องมือช่วยทำงาน ทั้งในการอำนวยความสะดวกและการสร้างรายได้ อีกจุดคือการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ มือถือจึงเป็นเครื่องมือเหมาะสมในการตามเทรนด์ใหม่ แต่ที่เซอร์ไพรส์คือการไม่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ตรงนี้ถือว่าได้เวลาในการช่วยให้ทุกคนปลอดภัยขึ้นอย่างจริงจัง

“บริษัทในยุโรปกังวลเรื่องการใช้ AI มาก เช่น อาจจะมีการอัปโหลดข้อมูลลับ หรือข้อมูลลูกค้า แต่คนไทยเปิดรับมาก ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ก็รู้สึกว่าควรต้องปลอดภัยมากกว่านี้”

เพตเตอร์ยกตัวอย่างชาวนอร์เวย์จำนวนไม่น้อยเลือกสมัครใช้บริการรักษาความปลอดภัยในลักษณะการซื้อประกัน โดยจะมีบริษัทพันธมิตรรับหน้าที่ในการจัดการลบรูปหลุด หรือข้อมูลรั่ว รวมถึงมีบริการ VPN บริการติดตามการใช้อีเมลในทางที่ผิด และบริการจัดการรหัสผ่าน ข้อมูลบัตรเครดิตให้ปลอดภัย ทั้งหมดนี้มีความต้องการเกิดขึ้นในตลาด เพราะชาวนอร์เวย์มีความกังวล และยินดีที่จะจ่ายค่าบริการ ซึ่งในประเทศไทยยังต้องรอให้เห็นความต้องการเกิดขึ้น

86% ของคนไทยใช้เวลามากกว่าครึ่งวันบนโทรศัพท์มือถือ
เมื่อถามถึงเรื่องค่าบริการในไทย เพตเตอร์เชื่อว่าระดับค่าบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไทยในปัจจุบันไม่ได้สูงและอยู่ในระดับสามารถจ่ายได้ ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่จึงรู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่าย เพราะมือถือทำให้สร้างความก้าวหน้าด้านการเงิน และเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจด้วย

สำหรับภาพรวมในภูมิภาค แม้การเปิดรับเทคโนโลยีในการทำงานของประเทศอื่นนั้นมีตัวเลขคล้ายกัน รวมถึงการใช้อุปกรณ์โมบายที่เพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยยังโดดเด่นมากกว่าประเทศอื่น เบื้องต้น เทเลนอร์ไม่ได้แสดงจุดยืนเปลี่ยนโฟกัสจากคุณภาพเครือข่ายไปสู่บริการดิจิทัลใหม่ แต่ยอมรับว่าบริษัทได้เปิดใช้ AI ในการยกระดับธุรกิจโทรคมนาคมมากขึ้น

“AI พัฒนาเร็วมาก การลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่จะมีมหาศาล เราจำเป็นต้องให้ความรู้กับทุกคนว่า AI จะเปลี่ยนรูปแบบทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ที่แน่นอนคือ AI จะช่วยพัฒนางานบริการลูกค้า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับโอเปอเรเตอร์ ต่อไปจะไม่ใช่ออกแพกเกจราคาเดียวเพื่อให้บริการกับทุกคน แต่จะมีแพกเกจพิเศษสำหรับตอบความต้องการของแต่ละคน ราคาค่าบริการในอนาคตอาจจะถูกลงเพราะ AI ช่วย”

หากค่าบริการมือถือต่ำลง ตลาดมือถือไทยก็คงจะยิ่งขลังขึ้นอีก


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *