จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลับมาบูมอีกครั้งหลังละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ของช่อง 3 เริ่มออนแอร์ ฉากโบราณสถาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า สมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างกระแส เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวจ.อยุธยาฯ ตามรอยละครพรหมลิขิต มาให้ทุกคนได้ไปท่องเที่ยวและชมสถานที่จริง
1.วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด
2.วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ให้ชื่อว่าวัดทอง เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดเกล้าให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด เป็นวัดของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกต้นพระบรมราชวงศ์จักรี ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา
3.วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในอดีตเป็นวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณ อยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร มีจุดที่น่าสนใจที่สำคัญคือเจดีย์ทรงลังกา จำนวนสามองค์ และเป็นวัดประจำวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จึงกลายเป็นต้นแบบของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ในเวลาต่อมา
4.วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สร้างขึ้นเมื่อทรงอพยพมา ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ปีพ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์
รูปภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
5.วัดพนัญเชิงวรวิหาร มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าสายน้ำผึ้งราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง และได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ พระเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี ปัจจุบันเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญของอยุธยา โดยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยที่นับว่าใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโต หรือ เจ้าพ่อซำปอกง
6.วัดพระราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตพระราชวัง อยู่ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร คาดว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1912 ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร บริเวณหน้าวัดคือ บึงพระราม ปัจจุบันเหลือเพียงเสาในพระอุโบสถ วิหาร 7 หลัง กำแพงด้านหนึ่ง และที่สำคัญคือพระปรางค์ ซึ่งเป็นพระปรางค์ทรงขอมโบราณขนาดใหญ่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสองด้าน เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนบัลลังก์ สีที่ใช้เป็นสีแดง คราม เหลืองและดำ เป็นภาพจิตรกรรมยุคอยุธยาตอนต้น
7.วัดกุฎีดาว ปรากฏในหนังสือ พงศาวดารเหนือ ว่า ถูกทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 ได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2254–2258 โดย พ.ศ. 2258 มีการจัดงานฉลองวัดเป็นงานใหญ่ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎเรื่องของการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอีก
8.วัดมเหยงคณ์ สมัยก่อนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองนานหลายร้อยปี กระทั่งวัดรกร้างและต้องทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ และรุ่งเรืองสืบมาจนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ได้ถูกทำลายและทิ้งร้างอีกครั้ง จนเมื่อ พ.ศ. 2527 พระภาวนาเขมคุณ (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐาน เพื่ออบรมวิปัสสนาให้กับบุคคลทั่วไป
รูปภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย9.วัดพระงาม (ประตูกาลเวลา) เป็นโบราณสถานร้างอยู่ในกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 จุดเด่นของวัดคือซุ้มประตูวัดที่โอบรอบด้วยต้นโพธิ์ จนได้รับการขนานนามว่า ประตูแห่งกาลเวลา ซึ่งแสงอาทิตย์จะสาดส่องผ่านซุ้มประตู และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศคัดเลือกให้ต้นโพธิ์วัดพระงาม เป็นหนึ่งในต้นไม้ รุกข มรดกของแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562