เปิดตัว “ดรีมทีม” ผู้สมัครบอร์ดประกันสังคม 2 ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เสนอตัวยกระดับรักษาพยาบาล-เสถียรภาพกองทุน นายกรัฐมนตรีสั่งตั้ง กก.สอบตัดสิทธิผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ


เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตผู้อำนวยการด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคม หมายเลข 79 ให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า ในอดีตตนเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับประกันสังคมและทำหน้าที่ประเมินแผนให้สำนักประกันสังคมในแผน 3 รวมทั้งทำวิจัยให้กระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการเกษียณอายุผู้ประกันตน ทำให้รู้สึกว่าอยากเข้าไปปรับปรุงแก้ไขในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งได้เห็นหลายปัญหา ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของกองทุนฯ และในแง่ผู้ประกันตนที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น

“การลงสมัครครั้งนี้ได้ร่วมทีมกับ ศ.วรเวศน์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเลข 48 และนายกีรติ โกศีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมายเลข113”ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว

ศ.ดร.วรวรรณกล่าวว่า สิ่งที่อยากเข้าไปแก้ไขคือ 1. เรื่องความมั่นคงของกองทุนฯ เราทราบว่ามีปัญหาเรื่องเสถียรภาพในระยะยาว จำเป็นต้องหาทางจัดการในเรื่องนี้ เพราะเก็บเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากผู้ประกันตนและนายจ้างตลอด แต่ในส่วนของภาครัฐค้างชำระทุกปีจนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากนายจ้างและลูกจ้างค้างชำระกลับถูกปรับ แต่รัฐบาลค้างชำระกลับไม่ถูกปรับ สิ่งถือว่าเป็นความสูญเสีย เพราะหากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่ดี

2.เรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ แต่พอคนที่ใช้สิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งไม่เสียเงินเลยเนื่องจากเอารายได้จากภาษีของประชาชน แต่หลักประกันสุขภาพบัตรทองกลับดีขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้าประกันสังคม จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เอาเงินในส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้างส่วนนี้ไปปรับปรุงอย่างอื่น เช่น จ่ายค่าห้องพิเศษ หรือเป็นเงินออมให้ผู้ประกันตน ส่วนการรักษาพยาบาลก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล

3.เรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพราะที่ผ่านมา สปส.ไม่ค่อยตอบสนองผู้ประกันตน เช่น การตัดสินใจทำอะไร แต่ผู้ประกันตนไม่เคยทราบ เช่น การประชุมบอร์ด ควรเปิดเผย ขณะที่ สปสช.ตั้งมาทีหลังยังมีการเปิดเผย

“ภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ประกันตนให้เหมือนบัตรทอง หากช่วยบัตรทอง 3 พันบาทก็ควรช่วยผู้ประกันตนเช่นนั้นด้วย เช่นเดียวกับเรื่องการลงทุน ผู้ประกันตนรับทราบเรื่องน้อยมากเกี่ยวกับการดำเนินงาน เราอยากเห็นภาพรวมการลงทุน และผลตอบแทนที่ได้รับ รวมทั้งเงินสะสมว่าเป็นอย่างไร เราไม่ทราบเลยทั้งที่เป็นเงินของเรา” ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า การจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงผู้ประกันตนน้อยมากแล้ว ยังมีการร้องเรียนในหลายเรื่อง โดยก่อนหน้านี้ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากตรวจสอบกรณีกระทรวงแรงงานกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติว่าถูกตัดสิทธิทั้งๆที่เป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกับผู้ประกันตนไทย

ทั้งนี้หนังสือที่ประธาน กสม.ส่งถึงนายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่า ระเบียบการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม พ.ศ.2564 ข้อ 16 (1) กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ร้อง เห็นว่าระเบียบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 8 แห่ง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่บัญญัติให้การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของนายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งผู้ประกันตนที่ชำระเงินสมทบในระบบประกันสังคมมีทั้งบุคคลสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ระเบียบนี้จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า หลังจากที่ กสม.ตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้วมีมติพร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงแรงงานให้แก้ไขระเบียบกระทรวง โดยกระทรวงแรงงานได้แจ้งผลการดำเนินการลงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ยืนยันว่าเห็นควรยังไม่แก้ไข อีกทั้งยังให้ กสม. นำข้อเสนอแนะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม หรือพิจารณ์สั่งการให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตามข้อเสนอของ กสม. นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อพิจารณาด้วยว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงแรงงานนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นบอร์ดประกันสังคม พ.ศ.2564 ข้อ 16 (1) ที่กำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย

ข่าวแจ้งว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำหนังสือจาก กสม. เข้าหารือในที่ประชุม ครม.และสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *