ที่ประชุมบอร์ดพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” สธ.เผยไทม์ไลน์เข้ารับบริการทุกรพ.ทุกสังกัดในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด “แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด นราธิวาส” มี 2 ระยะ เฟสแรกของขวัญปีใหม่ ม.ค.67 ต่อด้วยระยะที่สองเดือนเม.ย.
เมื่อเวลา 13.00น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการฯ รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ
ที่ประชุมได้เห็นชอบการดำเนินการทั้ง 5 ประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ได้ตามนโยบาย Quick Win 100 วัน คือ 1.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 2.มะเร็งครบวงจร 3.สถานชีวาภิบาล 4.การบริการเขตเมือง กทม.และเชียงใหม่ และ5.ยาเสพติดและการดูแลสุขภาพจิต
(ข่าวเกี่ยวข้อง :นายกฯ ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” นั่งประธานบริหารขับเคลื่อน 5 นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค)
บัตรประชาชนใบเดียว นำร่อง 4 จังหวัดรักษาข้ามสังกัดสธ.
“บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ใช้บริการได้ในหน่วยบริการ รพ.ทุกสังกัดข้ามเครือข่ายได้ 4 จังหวัดนำร่อง “แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด นราธิวาส”
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาระบบ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ดังนี้ 1.เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ 2.เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการ และ3.เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนบางส่วนไม่ถนัดการใช้มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งเช่นเดียวกัน
สำหรับการพัฒนาระบบแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
1. พัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ทั้งจาก รพ.รัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นอกสังกัดสธ. รพ.เอกชน รพ.สต. คลินิก ร้านยา
2.พัฒนาระบบยืนยันตัวตน ทั้งการยืนยันตัวตนผู้รับบริการ เช่นดิจิทัลไอดี ยืนยันตัวตนผู้ให้บริการ การตรวจสอบสิทธิ การยืนยันเข้ารับบริการ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนคนต่างด้าว
3. พัฒนาระบบการทำงาน เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ สมุดสุขภาพประชาชน ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล การนัดหมายออนไลน์ การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เป็นต้น
4.การพัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชน ทั้งการผ่าน LINE OA และ Application เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงประชาชนทั้งประเทศ
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีฐานข้อมูลจากการฉีดวัคซีนโควิด19 ที่ผ่านมา รวมต่างด้าวและชาวต่างชาติกว่า 66 ล้านคนในฐานข้อมูล ส่วนข้อมูลในไลน์และแอปพลิเคชันของกระทรวงฯ ประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับแอปฯเป๋าตัง โดยจะใช้ฐานข้อมูลตรงนี้ต่อยอดให้เป็นควิกวิน 100 วันได้ทันที
“ทั้งนี้ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และกฎหมายความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA เป็นสิ่งที่เราคำนึงสูงสุดต่อการพัฒนาระบบนี้ ซึ่งโครงการนี้จะนำร่องใน 4 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยมีรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุดมศึกษาฯ รพ.เอกชน คลินิก ร้านขายยา รพ.สต.ที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะนำร่องและนำบทเรียนในพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขก่อนขยายผลต่อไป” นพ.พงศธร กล่าว
ไทม์ไลน์บริการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”
ไทม์ไลน์จัดบริการ “ประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มกราคม 2567
ประชาชนใน 4 จังหวัดจะมีประวัติสุขภาพแสดงบนโทรศัพท์ สามารถดึงประวัติของตนเองมาเก็บไว้ในสมุดสุขภาพ หรือ Health wallet บนโทรศัพท์ของตนเองได้ ส่วนของหญิงตั้งครรภ์ จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนโทรศัพท์ ซึ่งถ้าหากต้องการใบรับรองแพทย์ จะเป็นใบรับรองระบบดิจิทัลที่มีลายเซ็นของแพทย์ โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ป้องกันการปลอมแปลง และสะดวกต่อการใช้งาน
อีกทั้ง เมื่อประสงค์จะไปรับยาที่ร้านยา หรือไปเจาะเลือดก็จะมีใบสั่งยา หรือแล็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังร้านยา และแล็บ แบบอัตโนมัติ ขณะที่โรงพยาบาล ร้านยา คลินิก รพ.สต. ใน 4 จังหวัด จะมีระบบการแพทย์ทางไกลที่เชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านโทรศัพท์ของประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์ แจ้งเตือนการมารับบริการ การส่งยาทางไปรษณีย์ หรืออื่นๆ พร้อมการเบิกจ่ายผ่านระบบกลาง ที่เตรียมพัฒนาไปสู่ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
“ที่สำคัญ สธ. มีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธอภาพของการเงินในอนาคต โดยหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการส่งเบิก เป็นต้น”
ระยะที่ 2 เมษายน 2567
สธ. จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ ซึ่งเมื่อประชาชนไปรับบริการเสร็จแล้ว ไม่ต้องไปรอที่เคาท์เตอร์จ่ายค่าบริการ แต่สามารถกดจ่ายผ่านโทรศัพท์ได้เลย รวมถึงที่ตู้คีย์ออส ในกรณีที่ไม่มีสมาร์ทโฟน การส่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ข้อมูลสุขภาพที่เตรียมการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หากข้อมูลที่เป็นประวัติส่วนตัวในการรักษาจะมีระบบป้องกันขั้นสูง ต้องมีรหัส OTP ของผู้ป่วยก่อนที่แพทย์จะส่งข้อมูลไปได้ เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้น ระบบสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเจาะเลือดใกล้บ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-เปิดไทม์ไลน์ “มะเร็งครบวงจร” ตั้ง Cancer Warrior ทุกจังหวัด คิกออฟฉีดวัคซีนHPV คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ
-“หมอเลี้ยบ” เล็งเพิ่มโคราช ‘บัตรประชาชนใบเดียว’ เฟสสอง ด้านสภาการพยาบาลขออย่าลืม “กำลังคนวิชาชีพ”
-สภาองค์กรผู้บริโภคแนะ ‘บอร์ดพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ’ ให้ความสำคัญผู้ประกันตนยังพบความเหลื่อมล้ำ