หลังจากที่มีบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตในไทยได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการการส่งเสริมการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเพิ่มมาตรการสนับสนุน
ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสนับสนุนการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถชนิดดังกล่าวเป็นแห่งสุดท้ายของโลก ควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ยังปรับตัวไม่ทันไปสู่การผลิต EV
หลังจากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการ EV ซึ่งทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดด และมีบริษัทจีนทยอยเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น BYD , ฉางอัน ออโตโมบิล
ในอดีตมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์จนสร้างโปรดักแชมป์เปี้ยนได้ 2 รายการคือ รถปิ๊กอัพ และ รถอีโคคาร์ ซึ่งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีศุลกากร
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำเรื่องฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในระหว่างการหารือกับ ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถเครื่องยนต์สันดาปแห่งสุดท้ายของโลก โดยเฉพาะตลาดรถพวงมาลัยขวา เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในซัพพลายเชนยานยนต์กว่า 600,000 คน ปรับตัวได้ทัน
“ทั้งนี้ แนวทางในการส่งเสริมรถ ICE จะมีการพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหลักในไทยให้มีมาตรฐานในการผลิตรถประหยัดน้ำมันยูโร 5-6 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งแนวทางการผลิตรถพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไฮบริด และไฮโดรเจน”
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือกับค่ายรถทั้งผู้ที่ผลิต EV และ ICE รวมถึงหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เพื่อรับฟังความเห็นจากฝ่ายญี่ปุ่น ก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ธ.ค.2566
“ยืนยันว่าในเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ประเทศไทยจะดำเนินมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าควบคู่กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้บีโอไอทำการบ้านต่อ ซึ่งบีโอไอจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- กระทรวงอุตสาหกรรม
- กรมสรรพสามิต
- บริษัทผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน
- บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
- บริษัทรถยนต์ที่สนใจลงทุนในไทย
ทั้งนี้ จะมีการหารือและสรุปเป็นนโยบายภายใน 2 เดือน ซึ่งจะมีความชัดเจนก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้ จะต้อมีความชัดเจน ขณะเดียวกันในเร็วๆ นี้
“เรื่องนี้ภาครัฐไม่ได้ทำคนเดียวต้องหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ได้นโยบายที่ชัดเจน”
สำหรับแผนการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ บีโอไอจะดำเนินการควบคู่กันระหว่างรถทั้ง 2 ประเภท โดยตามแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด
ทั้งนี้ เป้าหมายของไทย คือ การจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก โดยภายในปี 2030 ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ขณะที่อีก 70% เป็นการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เดือน ธ.ค.นี้ จะนำคณะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยได้หารือกับบีโอไอว่า ไทยจะไม่ลืมญี่ปุ่นที่มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาสูงสุด และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้นถึงปัจจุบัน
“ผมได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนญี่ปุ่นว่าเรื่อง EV ค่ายรถญี่ปุ่นอาจจะช้าและปรับตัวไม่ทัน เพราะเริ่มช้าและเสียเปรียบในตลาดรถยนต์ไทย ซึ่งจะรัฐบาลจะพิจารณาให้เพราะตลาดรถยนต์สันดาปในไทยมีขนาดใหญ่และจ้างงานจำนวนมาก”
ทั้งนี้ ไทยอาจมีนโยบายว่าจะทำอย่างไรให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ค่ายรถผลิตได้เป็นช่วงท้ายๆ โดยอาจมีมาตรการแพคเกจที่สนับสนุนการลงทุนที่กำลังหารือ
“ผมจะพูดคุยกับสมาคมยานยนต์เพื่อให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาให้มาผลิตที่ไทย เพื่อให้ส่งออกไปทำให้ซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปยาวออกไปแล้วให้เขาปรับตัวอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งผมยืนยันกับบีโอไอว่าเราไม่ลืมต้นน้ำที่ญี่ปุ่นเคยช่วยเหลือเรามา”
ทั้งนี้ ไทยเคยเป็น Detroit of Asia หลังจากที่มีการผลิตรถยนต์จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลจะเข้ามาดูแลว่าส่งเสริมการผลิตรถยนต์น้ำมันอย่างไรเพื่อให้อยู่ในไทย เพราะธุรกิจนี้ยังคงมีต่อใน 10-15 ปี