
เรียกได้ว่าเป็นละครไทยที่กำลังมาแรงที่สุดในตอนนี้ สำหรับ “พรหมลิขิต” ทางช่อง3 ที่นอกจากบทละครจะสนุกและสอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เครื่องแต่งกาย” ซึ่งหลายคนชื่นชมว่างดงามและใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก
งานนี้ผู้เขียนเลยจะพาไปเปิดโลกของ “ผ้า” ลวดลายต่างๆที่นำมาทำเครื่องแต่งกายของตัวละครในละคร พรหมลิขิต ซึ่งล้วนแต่ออกแบบลายผ้าโดย อ.ธนิต พุ่มไสว (ภูษาผ้าลายอย่าง) และออกแบบชุดโดย กิจจา ลาโพธิ์
โดยทางเพจ “ภูษาผ้าลายอย่าง” ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับลวดลาย และแบบของผ้าที่แต่ละตัวละครได้สวมใส่ในเรื่องไว้หลายลายเลยทีเดียว เริ่มที่ “ขุนหลวงท้ายสระ” (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมินทราชา) ที่รับบทโดย “เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์” นุ่งผ้าเขียนลายทอง “ลายสีทันดร“
“ฉากสำคัญเปิดตัว ขุนหลวงท้ายสระ เป็นการออกว่าราชการหลังขึ้นครองราชย์ โดยฉากนี้ขุนหลวงท้ายสระ นุ่งผ้าเขียนลายทอง “ลายสีทันดร” ซึ่งออกแบบผ้าเขียนลายทอง เป็นรูปราชาแห่งปลา คือ ปลาอานนท์ พญามัจฉาที่มีร่างกายใหญ่โตหนุนอยู่ใต้เขาพระสุเมรุมหาคีรี ออกแบบเป็นลายย่อมุมยี่สิบ แทนเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วยราชวัตร เป็นลายเงือก แทนสัตว์ในมหานทีสีทันดร มีสังเวียนเป็นนาค มีหน้ากระดานเป็นรูปกุญชรวารี อัศดรวารี และสัตว์หิมพานต์ที่มีถิ่นอาศัยในมหานทีสีทันดร ประกอบกันเป็นกระบวนลายผ้าอย่างราชสำนักโบราณ นั่นคือ กรวยเชิงสามชั้น, หน้ากระดาน, สังเวียน, ลูกขนาบ, ช่อแทงท้อง และ ท้องผ้า ครบถ้วนอย่างงดงาม เหตุที่ผ้าผืนนี้ต้องเป็นลายปลาด้วยว่า ขุนหลวงท้ายสระโปรดปลาตะเตียนอย่างยิ่ง จนมีการตรากฏหมายว่าด้วยเรื่องการจับปลาตะเพียนไปบริโภค เพื่อรักษาสมดุลในธรรมชาติ หากจับไปบริโภคจะมีการลงโทษถึง 5 ตำลึง ผู้ออกแบบจึงตั้งใจจำลองฉลองพระองค์นี้ให้สง่างาม ด้วยโทนสีจำปา นุ่งผ้าเขียนทองสีน้ำเงิน ประกอบถนิมพิมพาภรณ์ ให้สมกับการว่าราชการต่อเสนามหาอำมาตย์ และขุนนางน้อยใหญ่ทั้งปวง”