กางแผน 2 ระยะลุย “บัตรประชาชนใบเดียว” รักษาทุกที่ เริ่ม ม.ค. 67 นำร่อง 4 จังหวัด เข้า รพ.ทั้งสังกัด สธ. อว. กลาโหม เอกชน ร้านยา เชื่อมข้อมูลโชว์ประวัติสุขภาพบนมือถือ เก็บใน Health Wallet ระยะที่สอง เม.ย. 67 เพิ่มระบบจ่ายเงินออนไลน์ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว แพทย์ส่งข้อมูลต้องใช้ OTP จากคนไข้ เร่งขยายพื้นที่เพิ่ม “โคราช” หากเชื่อมข้อมูลพร้อม สปสช.ปรับระบบเบิกจ่ายการันตี รพ.รับเงิน 72 ชม.
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีการหารือและเห็นชอบถึงการขับเคลื่อนควิกวินยกระดับ 30 บาท โดยในเรื่องของบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่นั้น นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. ได้นำเสนอระยะในการพัฒนาเรื่องนี้
นพ.พงศธรกล่าวว่า การพัฒนาบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่จะเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ระบบบันทึกข้อมูล ทั้งรพ.รัฐ ร้านยา เอกชน , ระบบยืนยันตัวตน , ระบบ MOPH Data Hub เช่น ประวัติสุขภาพ สมุดสุขภาพประชาชน ใบรับรองแพทย์ ที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบเชื่อมต่อประชาชน เช่น ไลน์ OA และแอปพลิเคชัน โดยยึดความปลอดภัยด้านไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด โดยจะนำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยมี รพ.สังกัด สธ. อว. กลาโหม รพ.เอกชน คลินิก และร้านยาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
ระยะที่ 1 คือ ม.ค. 2567 จะมีประวัติสุขภาพแสดงบนมือถือ ดึงประวัติตนเองเก็บในสมุดสุขภาพ (Health Wallet) ในมือถือตัวเอง หญิงตั้งครรภ์จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนมือถือ หากต้องการใบรับรองแพทย์ก็จะมีแบบดิจิทัล เมื่อประสงค์ไปรับยาร้านยาหรือเจาะเลือด จะมีใบสั่งยาหรือแล็บอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงร้านยาและแล็บอัตโนมัติ มีระบบการแพทย์ทางไกลเชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านมือถือประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์แจ้งเตือนการมารับบริการ ส่งยาทางไปรษณีย์หรืออื่นๆ จ่ายเงินผ่านระบบกลางต่อยอดสู่ Big Data และ AI หน่วยบริการรับเงินใน 72 ชั่วโมงหลังจากส่งเบิก เป็นต้น
ส่วนระยะที่ 2 เม.ย. 2567 จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ ไม่ต้องรอจ่ายเคาน์เตอร์ สามารถจ่ายผ่านมือถือหรือตู้เคออส การส่งตัวไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ข้อมูลประวัติส่วนตัวและการรักษา มีระบบความปลอดภัยขั้นสูง ต้องมี OTP ของผู้ป่วยก่อนแพทย์ส่งข้อมูลไปได้ เพื่อป้องกันความปลอดภัย ระบบเชื่อมโยงการเจาะเลือดใกล้บ้าน ดูแลผู้ป่วยที่บ้านระยะสุดท้าย ขอที่ประชุมเห็นชอบเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อเชื่อมข้อมูลทุกระบบ ประชาชนจะสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ โดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณ จ่ายค่าชดเชยบริการเร็วขึ้น โดยใช้ AI เป็นระบบตรวจสอบต่อไป การอำนวยความสะดวกประชาชน จะเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ในการสอบถามข้อมูล แจ้งปัญหา หากไปรับบริการไม่ได้ตามที่ตกลง นัดคิว นัดแพทย์ออนไลน์ไม่ได้หรือไม่สะดวก ไม่ทราบร้านยาหรือแล็บทีไปรับบริการ จะเข้าไปเสริมให้ระบบลื่นไหล โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ คนพิการ มาช่วยตอบคำถาม เปิดทุกช่องทางให้ประชาชนติดต่อ สปสช.ได้ ส่วนอำนวยความสะดวกผู้ให้บริการ จะเปิดคู่สายให้หน่วยบริการหากไม่เข้าใจหรือต้องการตรวจสอบข้อมูลประชาชนในการใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการ เพื่อให้มั่นใจว่า สปสช.จ่ายเงินแน่นอน โดยมีการปรับกลไกชดเชยค่าบริการ จัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการล่วงหน้า เร่งการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ใน 3 วัน และกรณีเป็นผู้ป่วยในไม่เกิน 14 วัน
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอว่า เรื่อง 4 จังหวัดนำร่อง เห็นว่าพื้นที่ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา มีความพร้อม และ ดีอีเตรียมข้อมูลในการประสานงานไว้ส่วนหนึ่งแล้ว คาดว่า 100 วันสามารถดำเนินการได้ทัน และเป็นจังหวัดใหญ่มีข้อมูลพร้อม
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า 4 จังหวัดนำร่องเราดูจากความพร้อมชนิดที่พร้อม 100% ส่วนนครราชสีมาเล็งไว้เหมือนกัน แต่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อระบบ เกรงว่าช่วงแรกจะเกิดความขลุกขลัก แต่เราจะเพิ่มจาก 4 จังหวัดให้เร็วที่สุด หากนครราชสีมาพร้อมเมื่อไรจะเริ่มต้นในระยะที่ 2 ได้ทันที ขอไปเชื่อมต่อระบบให้ไหลลื่นไม่มีการติดขัดก่อน