มีประโยคตลกร้ายในวงการธุรกิจร้านอาหารให้ขบคิด ไม่ว่าจะเป็น เกลียดใครให้ยุไปทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะรายละเอียดมากมาย ยิ่งงานบริการ เจอผู้บริโภคความต้องการร้อยแปดพันประการ ไม่ถูกใจนิดหน่อยแบรนด์อาจโดน “แขวนประจาน” ผ่านโลกออนไลน์ หรือ ขายดีจนเจ๊ง! เรื่องจริงที่ผู้ประกอบการประสบพบเจอ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสต๊อก วัตถุดิบ มีเพียงพอขายต่อเนื่อง หรือขายหมดเฉพาะช่วงพีค รวมถึง “ต้นทุน” ที่อาจแซงหน้ายอดขายที่ดี เป็นต้น
ทว่า ธุรกิจร้านอาหารก็ยังเป็น “ขุมทรัพย์แสนล้าน” ที่เย้ายวนของผู้ประกอบการน้อยใหญ่ อยากเป็นเจ้าของกิจการ มีอาชีพอิสระและรายได้
ปี 2568 มองทิศทางธุรกิจร้านอาหารจะเป็นอย่างไร แม่ทัพใหญ่ ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)หยิบ 8 เทรนด์มาแบ่งปันผ่านงาน “Celebrating Success, Challenging Excellence”
เริ่มต้นเทรนด์ที่ 1 ไทยแลนด์ดินแดนร้านอาหาร และธุรกิจร้านอาหารไม่เคยหลับใหล ทำให้ตลาดขยายใหญ่ ปี 2568 มูลคาแตะ 5.72 แสนล้านบาท เติบโต 5-7% เทียบกับตอนโควิด-19 ระบาด ธุรกิจร้านอาหารมูลค่าราว 3.6 แสนล้านบาท หดตัว 10% เมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดปกติ การเติบโตกลับมาอย่างรวดเร็ว และเป็น “เครื่องยนต์” ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลานี้ ซึ่ง Engine บางอย่างไม่ง่ายจะสร้างแรงส่ง
เทรนด์ที่ 2 แบรนด์หน้าใหม่ยังตบเท้าเข้าสังเวียนแสนล้านบาทในประเทศไทย แม้จะมี “เปิดตัว” ค่อนข้างมาก แต่การ “ปิดตัว” ของร้านอาหารก็ไม่น้อยเช่นกัน เพียงแต่การรับรู้ในตลาดมีบ้าง โดยการยืนระยะ “อยู่รอด” ในตลาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งและการบริหารจัดการในระยะยาว
“ร้านอาหารที่เปิดตัวใหม่มีทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์มีมากถึง 2 แบรนด์”
เทรนด์ที่ 3 แบรนด์จีนท้ารบสมรภูมิร้านอาหาร แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่ “ทุนจีน” เข้ามายึดหัวหาด แต่ดาหน้าไปทุกหมวดธุรกิจ ไม่เว้นกระทั่ง “ก่อสร้าง” ซึ่งภาพใหญ่ทุนจีนรุกคืบร้านอาหารนานแล้ว ทั้งหมวดชาบู หมาล่า ไก่ทอด เครื่องดื่ม ฯ
“เขา(ผู้ประกอบการร้านอาหารจากจีน)เก่งนะ ต้องยอมรับว่าทุกระบบในร้านอาหารที่ทำมา สามารถตอบสนองผู้บริโภคชาวไทยได้ดี และยังมี Economy of Scale ทำให้ต้นทุน ราคาถูก”
ทั้งนี้ การเข้ามาของคู่แข่งทุนจีน มอง 2 มิติ ด้านดี คือมีผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่ดี ของใหม่ๆเสิร์ฟผู้บริโภคชาวไทย อีกด้าน “ผู้ประกอบการไทย” ต้องต่อสู้ให้ได้! ไม่เช่นนั้น จะถูกคืบคลานจากทุนจีน ตัวอย่าง มณฑลห้วยขวาง ที่ร้านอาหารเปิดมากมาย แม้จะ “ปิดตัวมาก” เช่นกันก็ตาม
เทรนด์ที่ 4 ยุคแห่งร้านอาหารพรีเมียมเบ่งบาน ปัจจุบันร้านอาหารราคาแพง ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก และนั่นทำให้ “ก๋วยเตี๋ยว” ชามละหลายร้อยบาท หรือ “ข้าวมันไก่” จานละ 200 บาท มีผู้คน “เข้าคิว” ลิ้มลองรสชาติ
“การทำร้านอาหาร ไม่ใช่แค่ราคาถูก หากคุณภาพดี คอนเซปต์โดนใจ ราคาที่ใช่ ก็ตอบรับดี อย่างโอโตยะ มีการเสิร์ฟเนื้อวัว ลิ้นวัว Sendai 400-500 บาท ผลตอบรับดีมากๆ”
เทรนด์ที่ 5 วัฏจักรแบรนด์อายุสั้นลง ย้อนมองอดีตการสร้างแบรนด์ใช้เวลา ทรัพยากรในการโปรโมทกว่าจะเกิดการรับรู้ โด่งดัง ปัจจุบันยุคดิจิทัล โลกออนไลน์ ทำให้ความดังเร็ว เกิดไวรัล ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์และร้านอาหารได้อย่างมากมาย
ทว่า แบรนด์มาเร็วได้ก็ไปเร็วได้เช่นกัน อีกด้านก็ “อยู่ค้างฟ้า” ได้ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องยืนหยุ่น เคลื่อนตัวว่องไวหรือมี Agility คล่องตัวในการทำงาน
เทรนด์ที่ 6 แบรนด์เก่าแก่และเก๋าถูกท้าทาย เพราะร้านอาหารไม่มีกำแพงกั้นการแข่งขัน หน้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหมายถึงแบรนด์เก่าเจ้าตลาด ครองขุมทรัพย์อยู่เดิม ถูกชิงตลาด เช่น ร้านอาหารหม้อร้อน มี “คู่แข่ง” เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เจ้าตลาดเหนื่อย! ทำให้แบรนด์เก่าแก่เหล่านั้นต้อง “ปรับตัว” ชุบชีวิตชีวา สร้างแบรนด์ให้สดใส สดชื่นอีกครั้ง เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น เคเอฟซี น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ ยืนหนึ่งยาวนานในตลาดโลก
“แบรนด์ที่อยู่มานาน ต้องปรับตัว ซีอาร์จีเราก็ปรับตัวให้แบรนด์สดใส สดชื่น”
เทรนด์ที่ 7 การพัฒนาแบรนด์ใหม่ ไม่หยุดนิ่ง ทางรอดผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่ “ซีอาร์จี” แต่ทุกค่ายธุรกิจร้านอาหาร ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เช่น บริษัทมีการทำร้านอาหารรูปแบบหรือฟอร์แมทใหม่ ปรับโฉมร้านเดิมให้มีความแอ๊คทีพ มีแบรนด์ใหม่เติมพอร์ตโฟลิโอ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าด้วย
“ไม่ง่ายที่จะสร้างแบรนด์ใหม่ให้ประสบความสำเร็จ แต่เราต้องมีอะไรใหม่ๆออกมาตลอด ซีอาร์จีเราเป็นหนึ่งในผู้ที่กรำยุทธจักรมานาน สร้างแบรนด์ใหม่ไม่ง่าย แต่การเป็นแบรนด์เก่าอยู่มานาน หากหลงลำพอง ยึดติดความสำเร็จในอดีต ก็อาจถูกท้าทายได้ เพราะคนรุ่นใหม่ สร้างแบรนด์เก่ง และมาพร้อมกับความคิดใหม่ๆในการขับเคลื่อนร้านอาหาร”
เทรนด์ที่ 8 ทักษะของ “คน” ในงานบริการเพียงอย่างเดียวไม่พอ ยุคนี้ต้องมี “เทคโนโลยี” มาช่วย อย่างปี 2568 ยังต้องจับตา “ต้นทุน” ที่จะขยับขึ้นด้านคน สำหรับ “ซีอาร์จี” มีร้านอาหารกว่า 1,300 สาขา พนักงานที่ใช้ทั้งพนักงานประจำและพาร์ทไทม์รวมกันกว่า 1.3 หมื่นราย ต่อเดือนยังเปิดรับสมัครพนักงานราว 1,000 คน แต่เผชิญสถานการณ์ “หาแรงงานยาก”
“8 เทรนด์นี้ ไม่ใช่แค่ซีอาร์จีที่เจอ แต่ธุรกิจร้านอาหารทั่วไปเผชิญเช่นกัน และเราต้องปรับตัวให้ได้”