เผยผลวิจัย ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถรักษาอาการปวดจากปลายประสาทเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานได้ผลดี



คณะนักวิจัยจาก ม.ขอนแก่น ประกอบด้วย ขจรศักดิ์ สีวาที, ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, ณัฐเศรษฐ มนิมนากร, สุยันต์ ลวงภิมาย, เทวัญ ธานีรัตน์, กุลธนิต วนรัตน์, ศิริชดา เปล่งพานิช, วิจิตรา เสนา, ธนเมศวร์ แท่นคำ และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถใช้รักษาอาการปวดจากปลายประสาทเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ผลดี 

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า คนไทยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 5.4 ล้านคน พอเกิดแผลที่เท้าจะหายยาก ทำให้ต้องถูกตัดเท้า กลายเป็นผู้พิการ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำวิจัยโดยใช้ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถแบบทาภายนอก รักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน พบว่า สามารถลดอาการเจ็บปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาการสูญเสียเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานจำนวนมากถึง 5.4 ล้านคน [1] แต่เข้าถึงการรักษาในระบบเพียง 3.3 ล้านคน คนไทยเสียชีวิตเพราะโรคเบาหวานสูงถึง 16,388 คนต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 45 คน คำนวณเป็นสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 47,596 ล้านบาท [2]

โรคแทรกซ้อนของเบาหวานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ โรคปลายประสาทเสื่อม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีแผลที่เท้า สูงถึงร้อยละ 19 ถึง 34 [3] สถิติในประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า จะถูกตัดเท้า สูงถึงร้อยละ 21 ถึง 82 [4] – [7] ในที่สุดกลายเป็นผู้พิการ

กัญชาตำรับเมตตาโอสถช่วยรักษาโรคปลายประสาทเสื่อมได้ดี

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้สนับสนุนให้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำวิจัยโดยใช้ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถแบบทาภายนอก รักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน

เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) รวม 100 ราย หลังการรักษานาน 3 เดือน พบว่า สามารถลดอาการเจ็บปวดจากปลายประสาทอักเสบและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ [8]

อาการเจ็บปวด ประเมินโดยเครื่องมือวัดแบบมาตรฐานสากล (NPSI) พบว่าก่อนเริ่มต้นการศึกษาผู้ป่วยมีอาการปวดเส้นประสาทส่วนปลาย 25.24 คะแนน หลังได้รับการรักษาประเมินเมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบคะแนนอาการปวด ลดลงคงเหลือเพียง 5.57 คะแนน

ในด้านคุณภาพชีวิตซึ่งประเมินโดยเครื่องมือวัดแบบมาตรฐานสากล (EQ-5D-5L) และการประเมินสภาวะสุขภาพทางตรง (Visual Analog Scale: VAS) พบว่า ก่อนเริ่มต้นการศึกษาผู้ป่วยมีคะแนนคุณภาพชีวิต ร้อยละ 60.64 เมื่อสิ้นสุดการรักษาคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79.79 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สำหรับยากัญชาตำรับเมตตาโอสถนี้ พญ.สุภาพร มีลาภ ได้มอบสิทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นน้ำมันกัญชาที่สกัดจากดอกกัญชาตัวเมีย สายพันธุ์หางกระรอก มีสัดส่วนของสาระสำคัญ ดังนี้THC:CBN:CBD เท่ากับ 3.20:0.65:0.32มิลลิกรัม/หยด [9]

ผลการวิจัยนี้มีศักยภาพในการนำไปต่อยอดและขยายผลให้กว้างขวางต่อไป เพื่อการลดปัญหาการถูกตัดเท้าและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน และที่สำคัญมากคือ การเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองทางการแพทย์ของประเทศไทย

สรุปผลการวิจัยเมตตาโอสถ จากการวิเคราะห์ผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 100 คน จำแนกเป็นกลุ่มที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถ จำนวน 50 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 50 คน

ข้อมูลพื้นฐาน
โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 64.33 (9.94) ปี อายุต่ำสุด 33 ปี อายุสูงสุด 84 ปี เมื่อเปรียบเทียบอายุของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่า มีอายุ 63.42 (10.77), 65.24 (9.06) ปี ตามลำดับ

ข้อมูลด้านเพศ พบว่า เป็นเพศชายร้อยละ 28.0, 26.0 เพศหญิงร้อยละ 72.0, 74.0 ตามลำดับ ส่วนมากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มมีสถานภาพสมรส ร้อยละ 66.0, 76.0 ตามลำดับ ระดับการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 84.0, 96.0 ตามลำดับ

ข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวด
จากการสรุปผลการศึกษาอาการปวดเส้นประสาทส่วนปลายในข้างต้น ในส่วนนี้นำเสนอผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนเฉลี่ยอาการปวดเส้นประสาทเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นรักษาจนสิ้นสุดการรักษาภายใน 12 สัปดาห์ พบว่า
ก่อนเริ่มต้นการศึกษาทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดใกล้เคียงกันดังนี้ กลุ่มทดลอง 25.60 (19.26) คะแนน กลุ่มควบคุม 25.24 (15.55) คะแนน มีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเพียง 0.36 คะแนน

เมื่อประเมินการรักษาในสัปดาห์ที่ 4,8,12 พบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงของการปวดเส้นประสาทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.72, 9.38, 5.57 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มในสัปดาห์ที่ 12 ยิ่งพบความแตกต่าง อาการปวดเส้นประสาทอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเท่ากับ 5.57, 22.85 คะแนนตามลำดับ โดยมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยอาการปวดเส้นประสาทเท่ากับ -17.27 คะแนน


ผลการวิเคราะห์คุณภาพชีวิต

กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มรักษาจนสิ้นสุดการรักษา ณ สัปดาห์ที่ 12 ด้วยเครื่องมือ EQ-5D-5L ของศูนย์โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAB) ทั้งหมดมี 5 มิติ และมีมาตรวัดคุณภาพชีวิต 5 ระดับ พบการวิเคราะห์ก่อนเริ่มต้นการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ได้ผลดังนี้

​1. การเคลื่อนไหว ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านการเคลื่อนไหวค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 2.40, 2.12, 1.86, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.32, 2.28, 2.00, 2.04 ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงการมีการคลื่นไหวที่ดีขึ้น

​2. การดูแลตนเอง ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านการดูแลตนเอง ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 1.54, 1.42, 1.34, 1.43 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 1.76, 1.76, 1.50, 1.59ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงการดูแลตนเองที่ดีขึ้น

​3. กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 1.80, 1.54, 1.60, 1.51 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.08, 1.94, 1.81, 1.70 ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงกิจกรรมที่ทำเป็นประจำที่ดีขึ้น

​4. อาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านอาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 3.00, 2.46, 2.00, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.92, 2.70, 2.42, 2.30ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงอาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ที่ดีขึ้น

​5. ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 3.00, 2.46, 2.00, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.92, 2.70, 2.42, 2.30ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลและความซึมเศร้าดีขึ้น

ผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนอรรถประโยชน์เฉลี่ย
ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการรักษา และทำการประเมินคุณภาพชีวิตซ้ำในสัปดาห์ที่ 4-12 สอดคล้องกับข้อสรุปข้างต้นที่คุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับค่าคะแนนอรรถประโยชน์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในกลุ่มทดลองเท่ากับ .63, 76, .81, .83 ตามลำดับ และกลุ่มควบคุม .65, .68, .75, .75 ตามลำดับ


ข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง
 
​ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนังสำหรับการวิจัยทดลองทางคลินิกทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตลอดระยะเวลาทำการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า

กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มส่วนมากไม่มีอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถและยาหลอก พบว่า ไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม ร้อยละ 90.0 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในระดับเล็กน้อยเพียงร้อยละ 10.0 ซึ่งพบความผิดปกติคล้ายคลึงกันดังนี้

​1. กลุ่มทดลองที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถ มีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง ดังนี้
(1) Urticaria ร้อยละ 6.0
(2) Rash maculopapular ร้อยละ 4.0
(3) Erythroderma,
(4) Pain of skin,
(5) Rash maculopapular ร้อยละ 2.0

​2. กลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก (น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น) อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง ดังนี้
(1) Urticaria ร้อยละ 6.0
(2) Pain of skin ร้อยละ4.0
(3) Rash maculopapular,
(4) Erythroderma,
(5).Rash maculopapular ร้อยละ 2.0

เอกสารอ้างอิง:
[1] วิชัย เอกพลากร. (บก.). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563.นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. 2564. Available at: https://tinyurl.com/ymka533 (Accessed 18 กันยายน 2566)

[2] สำนักสารนิเทศ. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. ข่าวในรั้ว สธ.วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 Available at: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/181256/ (Accessed 18 กันยายน 2566)

[3] McDermott K, Fang M, Boulton AJM, Selvin E, Hicks CW. Etiology, Epidemiology, and Disparities in the Burden of Diabetic Foot Ulcers. Diabetes Care. 2023 Jan 1;46(1):209-221. doi: 10.2337/dci22-0043. PMID: 36548709.

[4] ธนากร ธนามี. การศึกษาระบาดวิทยาและลักษณะของผู้ป่วยเท้าเบาหวานความเสี่ยงสูงและผลการดำเนินงานของคลินิกเท้าเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลน่าน. เชียงรายเวชสาร. 2566;15(2):66-74. (พบถูกตัดเท้า 81.5 %)
Available at: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/crmjournal/article/download/259646/178760/1098532
(Accessed 18 กันยายน 2566)

[5] Sarinnapakorn V, Sunthorntepwarakul T, Deerochanawong C, Niramitmahapanya S, Napartivaumnuay N. Prevalence of diabetic foot ulcers and risk classifications in type 2 diabetes mellitus patients at Rajavithi Hospital. J Med Assoc Thai. 2016;99 Suppl 2:S99-105.(พบถูกตัดเท้า 20.6%)

[6] Sareekam M, Makboon K. Clinical outcome of diabetic foot clinic at the department of physical medicine and rehabilitation Saraburi Hospital. Res Dev Health Syst J. 2021;14(3):246– 59.(พบถูกตัดเท้า 39.2%)

[7] Tantisiriwat N, Janchai S. Common foot problems in diabetic foot clinic. J Med Assoc Thai. 2008 ;91(7):1097–101.(พบถูกตัดเท้า 32%)

[8] Seevathee K, Kessomboon P, Manimmanakorn N, Luangphimai S, Thaneerat T, Wanaratna K, Plengphanich S, Thaenkham T, Sena W. Efficacy and safety of transdermal medical cannabis (THC: CBN: CBD formula) to treat painful diabetic peripheral neuropathy of Lower Extremities. Arch Med Res. 2023; 54(7). (Accepted to publish, In press)

[9] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ตำรับเมตตาโอสถและการุณย์โอสถ. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข. Available at: https://tinyurl.com/3cvkn2xv (Accessed 18 กันยายน 2566)


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *