‘เมดพาร์ค’ สู่ปีที่5 ลงทุนใหม่สร้างศูนย์จีโนมฯ ย้ำแกร่ง รพ.รักษาโรคซับซ้อน รับแข่งขันสูง | The Better


‘เมดพาร์ค’ สู่ปีที่5 ลงทุนใหม่สร้างศูนย์จีโนมฯ ย้ำแกร่ง รพ.รักษาโรคซับซ้อน รับแข่งขันสูง
เมดพาร์ค ลงทุนอีก40 ล.บาทตั้งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ วิเคราะห์ผลแล็บใน2 สัปดาห์ ย้ำตำแหน่งรพ.รักษาโรคซับซ้อนยุ่งยากรับคนไข้ต่างชาติเพิ่ม 30%  สื้นปีรายได้แตะ 4,000 ล้านบาท

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค (Medpark) เปิดเผยว่าในโอกาสครบรอบ 4 ปี และเตรียมเข้าสู่ปีที่ 5 รพ.เมดพาร์ค มุ่งตอกย้ำตำแหน่งการให้บริการทางการแพทย์โรงพยาบาลรักษาโรคซับซ้อนยุ่งยาก อย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางปฏิบัติหน้าที่ประจำ (Fulltime) ของโรงพยาบาล รวม 120 รายและแพทย์ไม่ประจำการ (Parttime) ราว 800-1,000 ราย

พร้อมกันนี้ เมดพาร์ค ยังเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) มหาวิทยาลัยทางการแพทย์ในกรุงปักกิ่ง สาธารณประชาชนจีน เพื่อร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะด้านเซลล์ที (T-cells) ทั้งในระดับเซลล์มะเร็ง และภูมิคุ้มกัน เพื่อนำไปสู่การวางแผนดูแลการรักษากลุ่มผู้ป่วยในรอยโรคที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

“เมดพาร์ค ยังใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทสร้างศูนย์จีโนมทางการแพทย์ พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการ หรือ แล็บ (Laboratory Center) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้านต่างๆ อาทิ วิเคราะห์ชิ้นตัวอย่างที่สงสัยในเคสผู้ป่วยมะเร็งรู้ผลได้ในสองสัปดาห์จากเดิมจะต้องส่งไปยังแล็บในสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าหนึ่งเดือน หรือศึกษาด้านจีโนมในภูมิคุ้มกันมนุษย์ในด้านต่างๆ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวคาดเปิดให้บริการต้นปี 2568” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวพร้อมเสริมว่า

ทั้งนี้ หลังจาก เมดพาร์ค ดำเนินการครบรอบ 4 ปีในปัจจุบัน มีฐานผู้ป่วยนอก (HN) ที่อยู่ในระบบมากกว่าหนึ่งแสนราย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินการโรงพยาลในช่วง 1-2 ปีแรกที่อยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เมดพาร์ค ได้จำนวนผู้ป่วยนอกเข้ามาจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ทั้งในกลุ่มคนไทย และชาวต่าชาติ ที่ทำงานละพำนักอาศัยในไทย (Expat)

โดยปัจจุบันฐานคนไข้เมดพาร์ค แบ่งสัดส่วนหลักเป็นกลุ่มชาวไทย ราว 70% และชาวต่างชาติ ที่มาจากทั้งกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึง Expat ราว 30% ที่รับรู้ตำแหน่งการให้บริการของเมดพาร์คในฐานะผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคซับซ้อนยุ่งยาก นอกเหนือจากเข้ามาใช้บริการคลินิกสูตินารีเวช ที่ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ย 100 เคสต่อเดือน

“แนวทางดังกล่าว ยังสอดคล้องกับเทรนด์การให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความต้องการด้านแพทย์เฉพาะทางในโรครักษายากมากขึ้น โดยเฉพาะอุบัติการณ์ในโรคมะเร็งที่พบได้ในคนไทย” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า

ในปี2567 เมดพาร์ค คาดจะมีรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *