เร่งสำรวจจัดทำข้อมูลอาหาร วางแผนลดบริโภคเกลือและโซเดียมสร้างสุขภาพดี


เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่โรงแรมปริ๊นส์ตัน เขตดินแดง นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมใน กทม. โดยมี นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) นายสุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม วิทยากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม 

จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2561-2562 และการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียมของคนไทยจากการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,388 ราย พบว่า ร้อยละ 67 มีการบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 1.5-2 เท่า ซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น 

ซึ่งพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารรสเค็ม 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน) และมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อจากการบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเป้าหมายการลดค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 เป็น 1 ใน 9 ตัวชี้วัดของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases) อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเฝ้าระวังการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับโลก 

กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 และจัดทำมาตรการการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึง กทม. โดยกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมใน กทม. เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วย Salt meter และการสำรวจความตระหนักรู้การบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชน 

อีกทั้งมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวังการบริโภคเกลือ และโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมจากสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ฝ่ายสิ่งแวดล้อมสำนักงานเขต กองสุขาภิบาลอาหาร กองสร้างเสริมสุขภาพศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และผู้จัดการตลาดในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาคีสนับสนุนผู้ประกอบการร้านอาหารปรับสูตรลดโซเดียมในอาหาร รวมทั้งสิ้น 250 คน 

รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม. เป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย เป็นพื้นที่เขตเมือง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน จนละเลยการดูแลสุขภาพ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างครบวงจรด้วยภารกิจในการให้บริการอันหลากหลาย ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การศึกษา และคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนมีชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี 

ดังนั้นในเรื่องของประเด็นการเฝ้าระวังเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นประเด็นท้าทาย และเร่งด่วนในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลการบริโภคโซเดียมของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว มีความสำคัญต่อการวางแผนในการป้องกันและควบคุมการก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชาชน หลังจากนี้ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และตลาด ร่วมกันดำเนินการสำรวจอาหารในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมใน กทม. สำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป. 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *