วันจันทร์ ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566, 06.50 น.
Tag :
แก๊งคอลฯอาละวาด
โทร.หลอกปปช.
ให้เปิดใช้ซิมใหม่
ไว้ใช้ต้มตุ๋นเหยื่อ
ตำรวจ สอท.เตือนประชาชนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังอาละวาดหนัก เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ล่าสุดอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ กสทช.-ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ แจ้งผู้เสียหายเปิดใช้งานซิมโทรศัพท์นำไปหลอกลวงผู้อื่น ย้ำเห็นเบอร์แปลกอย่ารับ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (โฆษก บช.สอท.) กล่าวว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าเป็นจากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จากการส่งข้อความสั้น (SMS) และจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน
ที่ผ่านมาตรวจสอบพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่จัดส่งไปยังต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมาย หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกอายัด หรือเป็นหนี้ยังไม่ชำระบัตรเครดิต หรือเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เป็นบุคคลตามหมายจับ รวมไปถึงหลอกลวงว่าได้รับเงินคืนภาษี ได้รับรางวัลต่างๆ หรือหลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานปลอมที่สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชีอของผู้เสียหาย เป็นต้น
ดังนั้น พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.เร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสวงหาแนวทาง และวางมาตรการป้องกันแก้ปัญหาภัยออนไลน์มาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเตือนภัยไซเบอร์วัคซีน การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน การบังคับกฎหมายตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 การแก้ไขการรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร การครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือ การอายัดบัญชีธนาคารอย่างรวดเร็วให้ทันท่วงที การตรวจจับบัญชี หรือการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และการยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินสูง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงตรวจสอบพบมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นพนักงานผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้เสียหายว่าได้เปิดใช้บริการซิมโทรศัพท์มือถือในพื้นที่จังหวัดต่างๆ พื้นที่จังหวัดห่างไกล โดยหมายเลขที่เปิดใช้บริการในชื่อของผู้เสียหายนั้น ถูกนำไปใช้ทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือถูกนำไปใช้หลอกลวงบุคคลอื่น โดยแจ้งอีกว่าหากผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ ให้ไปแจ้งความยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกเปิดใช้งานดังกล่าว แต่หากไม่สามารถเดินทางไปได้ ให้แจ้งความออนไลน์ผ่านช่องทางไลน์ของสถานีตำรวจดังกล่าวได้ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดต่อไปยังไลน์สถานีตำรวจ ซึ่งถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นแล้ว ระหว่างการติดต่อผู้เสียหายจะได้รับแจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ต้องโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งข่มขู่ห้ามมิให้ผู้เสียหายแจ้ง หรือติดต่อกับบุคคลใดในระหว่างการโอนเงิน รวมถึงมีการส่งเอกสาราชการปลอมให้ผู้เสียหายตรวจสอบ มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงว่าคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจจริงอีกด้วย
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักจะทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้เสียหาย โดยการทราบชื่อนามสกุลของผู้เสียหาย ใช้จิตวิทยาเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเหยื่อ มีการเขียนบทสนทนาให้มิจฉาชีพใช้พูดคุยกับเหยื่อ แต่งกายเป็นตำรวจ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนจริง เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยหลอกลวง เช่น ใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake ฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขที่โทรมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะมีเครื่องหมาย+697 อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับผู้ใดเด็ดขาด
พร้อมขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้ 1.ไม่มีนโยบายของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ที่จะต้องโทรศัพท์ไปยังประชาชน เพื่อแสดงเอกสารราชการ กล่าวอ้างว่าท่านกระทำความผิด หรือมีส่วนในการกระทำความผิด หากพบการกระทำดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน 2.ไม่ตกใจกลัว ไม่เชื่อเรื่องราวต่างๆ จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ให้วางสายการสนทนาดังกล่าว ตรวจสอบก่อนโดยการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนตำรวจไซเบอร์ หมายเลข1441 3.ไม่โอนเงิน หากมีคำพูดว่าให้โอนเงินมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม นั่นคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพอย่างแน่นอน 4.ไม่เพิ่มเพื่อนทางแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ 5.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินกับผู้ใดทั้งนั้น เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รหัสหลังบัตร รหัสOTPเป็นต้น 6.ท่านสามารถบล็อกสายเรียกเข้าที่มาจากต่างประเทศได้ ด้วยการกด *138*1# แล้วโทรออก 7.ติดตั้งแอพพลิเคชั่นWhosCall เพื่อแจ้งเตือนระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรศัพท์มาหลอกลวง 8.ดูแล แจ้งเตือน ผู้สูงอายุ บุคคลใกล้ตัว เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
<!–
window._taboola = window._taboola || [];
_taboola.push({
mode: ‘thumbnails-a’,
container: ‘taboola-below-article-text-links’,
placement: ‘Below Article Text Links’,
target_type: ‘mix’
});
–>