องค์การสหประชาชาติยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตกว่า 90% จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ในอัฟกานิสถาน ล้วนเป็นผู้หญิงและเด็ก ๆ
แผ่นดินไหวดังกล่าว เกิดขึ้นในจังหวัดเฮราต ทางตะวันตกของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,300 ราย
บีบีซีได้พูดคุยกับแพทย์ ผู้เห็นเหตุการณ์ และนักเคลื่อนไหว ที่ต่างโทษว่าการจำกัดสิทธิสตรีของกลุ่มตาลีบัน เป็นสาเหตุทำให้สัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง พุ่งสูงเช่นนี้
ซัลมา (นามสมมติ) แพทย์หญิงในจังหวัดเฮราต ได้เดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุแผ่นดินไหว เพื่อรักษาผู้หญิงที่บาดเจ็บ และเธอก็สังเกตเห็นอัตราส่วนผู้เสียชีวิตชาย-หญิง ที่ผิดปกตินี้ เป็นคนแรก ๆ
“ฉันไปที่หมู่บ้านที่สมาชิกตาลีบันอาศัยอยู่ ผู้ชายบางคนไม่ยอมแตะต้องผู้หญิงที่บาดเจ็บ หรือศพหญิงที่เสียชีวิต” เธอกล่าว
การกีดกันทางเพศ
เขตเซนดาแจน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดเฮราตไปราว 40 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงนี้
ประชาชนในพื้นที่บอกบีบีซีว่า แผ่นดินไหวทำลายอาคารทุกหลังของหมู่บ้านที่มีอยู่ 20 แห่งในแถบเทือกเขาแห่งนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในบ้านและอาคารตอนที่เกิดแผ่นดินไหว เป็นผู้หญิงและเด็ก
นับแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจในปี 2021ก็ได้บังคับใช้มาตรการมากมายที่จำกัดบทบาทของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ไม่ให้เรียนเกินระดับประถม ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่แต่ภายในบ้าน โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่อยู่ในแถบชนบท พวกเธอจะไม่ค่อยได้ออกจากบ้านเลย
“ผู้ชายไปทำสวน ดูแลปศุสัตว์ หรือข้ามแดนไปขายแรงงานที่อิหร่าน ส่วนผู้หญิงต้องอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก แล้วพอเกิดแผ่นดินไหว พวกเธอก็ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง” ซัลมา บอกบีบีซี
มาเรียม (นามสมมติ) เป็นนักเคลื่อนไหวอายุ 23 ปี เธอเล่าว่า เห็นกลุ่มตาลีบันเตือนเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ให้แตะต้องผู้หญิง ที่ประสบภัยแผ่นดินไหว
“ผู้ชายในชุมชนไม่มีปัญหากับการช่วยผู้หญิง แต่สมาชิกตาลีบันที่ติดอาวุธไม่ยอมให้พวกเขาเข้าใกล้ผู้หญิง” มาเรียมกล่าว “ตาลีบันยังห้ามไม่ให้ผู้หญิงเดินทางไปพื้นที่ประสบภัยในช่วง 2-3 วันแรก เพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงไปปนกับผู้ชาย”
เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ชื่อ อับดุล (นามสมมติ) บอกบีบีซีว่า กลุ่มตาลีบันไม่อนุญาตให้ผู้ชายสัมผัสตัวผู้หญิง แม้พวกเธอจะกลายเป็นศพแล้วก็ตาม
ผู้เห็นเหตุการณ์บอกบีบีซีว่า ผู้หญิงที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกนำตัวไปฝังแทบจะทันทีในวันที่เกิดแผ่นดินไหว โดยไม่ชำระล้างร่างกายตามพิธีกรรมของชาวมุสลิมก่อน โดยปกติแล้วพิธีชำระล้างร่างผู้เสียชีวิตผู้หญิง จะต้องให้ผู้หญิงอีกคนดำเนินการ แต่กลายเป็นว่าครอบครัวต่าง ๆ หาผู้หญิงมาประกอบพิธีไม่ได้
ความช่วยเหลือจำกัด
นักเคลื่อนไหวยังระบุด้วยว่า ข้อจำกัดของกลุ่มตาลีบันยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย เพราะภายใต้ข้อบังคับของตาลีบัน ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางหากไม่มีญาติผู้ชายเดินทางไปด้วย
ฟาริบา (นามสมมติ) อาสาสมัครวัย 21 ปี ทำงานอยู่ในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลในจังหวัดเฮราต ที่มีเตียงคนไข้ 500 เตียง เธอต้องการกลับไปทำงานทันทีที่ได้ยินข่าวแผ่นดินไหว
เธอสวมใส่ชุดคลุมยาวและผ้าคลุมศีรษะ แล้วออกจากบ้านไปโรงพยาบาล แต่คนขับแท็กซี่ไม่ยอมรับเธอ เพราะเธอไม่ได้สวมชุดคลุมทั้งตัวแบบบูร์กา และไม่มีผู้ชายเดินทางไปด้วย
“คนขับแท็กซี่หลายคนบอกว่า กรมคุณธรรมและอกุศลของตาลีบัน จะยึดรถของพวกเขา พร้อมเก็บค่าปรับตีเป็นเงินไทย 4,700 บาท หากพวกเขารับผู้โดยสารผู้หญิง ฉันเลยต้องเดินเป็นชั่วโมงไปโรงพยาบาล” เธอเสริม
ฟาริบา เล่าต่อว่า ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนเกิดแผ่นดินไหว กลุ่มตาลีบันได้เริ่มลงโทษคนขับรถ ที่ให้ผู้หญิงโดยสารเพียงลำพัง หรือให้ผู้หญิงที่ไม่สวมบูร์กาขึ้นรถ
บีบีซีได้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตาลีบันบางคนเดินทางไปโรงพยาบาลหลัก และบอกให้แพทย์ผู้หญิงเข้ามาทำงาน เพราะมีผู้บาดเจ็บผู้หญิงจำนวนมาก และมีแพทย์ไม่เพียงพอ
ผู้เห็นเหตุการณ์ในโรงพยาบาลหลายแห่งบอกว่า มีผู้หญิงบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่กี่คนเข้ามาดูแล ซึ่งฟาริบามองว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะกลุ่มตาลีบัน
“ตาลีบันสั่งห้ามแพทย์ผู้ชายไม่ให้รักษาผู้ป่วยหญิง กลายเป็นแรงกดดันและภาระที่แพทย์ผู้หญิงที่มีอยู่น้อยนิด รวมถึงพยาบาลผู้หญิง ต้องแบกรับ”
ดร.ซัลมา ระบุว่า กลุ่มตาลีบันถึงกับห้ามเธอไม่ให้รักษาผู้บาดเจ็บหญิงรายหนึ่ง
“ฉันเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ศีรษะของเธอบวมกว่าปกติถึง 3 เท่า เธออยู่กับลูกชายอายุ 10 ขวบ หมอบอกให้เธอไปเข้ารับการสแกนศีรษะจะได้ดูว่าเป็นอะไร” ดร.ซัลมา กล่าว
“แต่เธอและลูกชาย ไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน เพราะมันวุ่นวายไปหมด ฉันขอให้ตาลีบันปล่อยให้ฉันไปช่วย แต่พวกเขาไม่ยอม”
ตาลีบันว่าอย่างไร
บีบีซีติดต่อไปยังกลุ่มตาลีบัน เพื่อขอความเห็นถึงเรื่องนี้ โดยโฆษกตาลีบันปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า ตาลีบันเป็นสาเหตุทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น พร้อมอธิบายว่า ข้อกล่าวหานี้เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมในอัฟกานิสถาน แต่ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับที่ทางตาลีบันบังคับใช้
“แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเวลา 11 นาฬิกา พวกผู้ชายไปทำงาน ผู้หญิงก็อยู่บ้าน” ซาบิอุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบัน กล่าว
“ใครก็ตามที่เข้าใจสังคมอัฟกานิสถาน จะทราบดีว่าผู้หญิงเกือบ 80-90% ไม่ทำงาน และอยู่แต่ที่บ้าน”
มูจาฮิด อ้างว่า ทีมช่วยเหลือของตาลีบันเดินทางไปถึงพื้นที่ประสบภัยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง บางทีมนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไป แต่ก็ยอมรับว่า ความช่วยเหลืออาจไปไม่ถึงผู้ประสบภัยทุกคน
“มันเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ กระทบกับคนจำนวนมาก เศรษฐกิจอัฟกานิสถานก็ไม่ได้ดีมากพอที่เราจะดูแลทุกคนได้ แต่รัฐอิสลามของเรา ยังอยู่ในสภาพที่ยอดเยี่ยม” เขากล่าว
แต่เมื่อถามว่า ตาลีบันส่งทีมกู้ภัยผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่หรือไม่ เขาไม่ตอบ
ดร.ซัลมา ระบุว่า หน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้ช่วยเหลือด้านอาหารและผ้าห่ม แต่ก็ยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องทำเพื่อช่วยผู้ประสบภัยที่เป็นผู้หญิง เพราะมีผู้หญิงจำนวนมากบาดเจ็บจากแผ่นดินไหว และยังเข้าไม่ถึงการรักษาที่เหมาะสม แม้จะผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์
“หญิงตั้งครรภ์หลายคน ต้องสูญเสียทารกไป บางคนคลอดลูกในที่เปิดโล่ง และเสียเลือดอย่างมาก” ดร.ซัลมา กล่าว
“หญิงสาวเองก็ตื่นตระหนก เพราะไม่มีชุดชั้นในสะอาดสวมใส่ หรือไม่มีผ้าอนามัย พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ”