โฆษก กทม. เปิดประสบการณ์ซ้อน ‘รถจักรยานยนต์สามล้อ’ นวัตกรรมใหม่เพื่อผู้พิการ


‘เอกวรัญญู’ โฆษก กทม. เปิดประสบการณ์นั่ง ‘รถจักรยานยนต์สามล้อ’ นวัตกรรมใหม่สำหรับผู้พิการ ชื่นชมช่วยให้ผู้ทุพพลภาพสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป

วันที่ 17 พ.ย.66 เวลา 08.30 น. เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมวันอาสาสมัครสากล ประจำปี 2566 โดยเดินทางร่วมกับนายนำโชค เพชรแสน อาสาสมัครจาก UN Volunteers ที่เป็นผู้ทุพพลภาพด้วยรถจักรยานยนต์สามล้อ สำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับผู้พิการ จากบริเวณหน้าลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) ไปยังศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ACPD) เขตราชเทวี พร้อมบันทึกวีดิทัศน์ระหว่างการเดินทางเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางของผู้ทุพพลภาพภายในกรุงเทพมหานคร

โฆษก กทม. กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสได้นั่งรถมอเตอร์ไซค์มากับคุณนำโชค ระหว่างทางที่นั่งมารู้สึกพิเศษมากเพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ทุกคนจะหยิบมือถือมาถ่ายรูปตลอดทาง และรู้สึกว่ามอเตอร์ไซค์ สำหรับผู้ใช้วีลแชร์ที่คุณนำโชคประดิษฐ์เองคันนี้ สามารถช่วยให้ผู้พิการไปที่ไหนและพบปะกับใครก็ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และต้องคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ผู้ทุพพลภาพสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป ต้องขอขอบคุณองค์กรและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ช่วยจัดกันกิจกรรมในวันนี้ ในฐานะผู้แทน กทม. เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการได้มากกว่านี้ และพลังของจิตอาสาถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สังคมของเราดีขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณจิตอาสาทุกคนที่ช่วยเหลือสังคมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา การแพทย์ หรือด้านอื่น ๆ และในโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Hackathon หรือ Traffy Fondue ของกทม. สุดท้ายนี้ ขอรับรองว่า กทม.จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่จิตอาสาทุกคนในทุกๆ ด้านเพื่อทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน 

สำหรับแนวคิดหลักของกิจกรรมวันอาสาสมัครสากลในประเทศไทย ประจำปี 2566 คือ “If Everyone Did…” โดยมุ่งเน้นที่พลังของอาสาสมัครในการทำงานและชักชวนผู้คนให้ร่วมกันลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น กิจกรรมในปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหลาย ๆ ด้าน เช่น COVID-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาความยากจน ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ต้องได้รับการรับมือและแก้ไขอย่างทันท่วงที อาสาสมัครทุกคนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ และจุดประกายความหวังในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับโครงการจิตอาสาของประเทศไทยบนเวทีระดับนานาชาติ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และให้เกิดการยกย่องผลงานและบทบาทของคนที่ทำงานจิตอาสาในแต่ละภาคส่วนของประเทศไทยบนเวทีระดับนานาชาติ ในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และให้เกิดการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึงจากการทำงานจิตอาสา รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานจิตอาสาแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสากล ทั้งจากการเข้าร่วม ณ สถานที่จัดประชุม และการเข้าร่วมแบบออนไลน์ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ วีดิทัศน์ที่บันทึกระหว่างการเดินทางจะนำไปฉายแสดงในช่วงการเสวนาในหัวข้อ “Inclusive Development Through Volunteerism: The Profound Impact of Collective Volunteerism on National and Global Sustainable Development” ในกิจกรรมวันอาสาสมัครสากล ประจำปี 2566 ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.66 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) 

กิจกรรมวันนี้ คริสเตียน ไฮน์เชิล ผู้จัดการโครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก สุชาดา หมื่นกล้า รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อาสาสมัคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *