
.css-nh9sg4 #forum2022-logoSponsor{text-align:center;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text{font-family:”KaLaTeXa Display”;font-size:10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text span{background-color:#ffffff;padding:0 10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text::after{content:””;height:1px;width:100%;background-color:rgb(216,216,216);position:absolute;top:50%;left:0;-webkit-transform:translateY(-50%);-ms-transform:translateY(-50%);transform:translateY(-50%);z-index:2;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor{padding:0;margin:0;list-style:none;display:-webkit-box;display:-webkit-flex;display:-ms-flexbox;display:flex;-webkit-flex-wrap:wrap;-ms-flex-wrap:wrap;flex-wrap:wrap;gap:15px;-webkit-box-pack:center;-webkit-justify-content:center;-ms-flex-pack:center;justify-content:center;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor{height:80px;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor img{height:80px;}
วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับสุนัขจรกันหน่อยนะครับ ในโลกโซเชียลมีการแชร์ข้อความอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1639/2565 ฉบับย่อ สรุปประเด็นได้ว่า ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำแล้วสุนัขไปกัดคนอื่น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และยังต้องชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งด้วย พร้อมกันนี้มีการลงท้ายให้คำชี้แนะว่า “ท่านที่พบผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ ในบริเวณที่ท่านอยู่อาศัย หรือต้องผ่านบริเวณนั้นๆ อย่าลืมถ่ายภาพผู้นั้นไว้ล่วงหน้า ถ้าวันใดสุนัขจรจัดกัดท่าน หรือญาติมิตรของท่าน จะได้แจ้งความดำเนินคดี เรียกร้องค่าเสียหายได้ถูกคน”
ผมต้องบอกว่าข้อความนี้ไม่ผิด แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด และไม่ใช่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตามถือเป็นเจตนาดีของผู้เขียนข้อความที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพียงแต่ด้วยสไตล์ของการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย จำเป็นต้องใช้ข้อความสั้นๆให้ได้ใจความที่สุด จึงอาจ สื่อสารได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตื่นตระหนกเกินควร ลองมาฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้กันดีกว่า
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า เรื่องการให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำแล้วสุนัขไปสร้างความเสียหายนั้น มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ ควรพิจารณาเป็นรายกรณี อย่างคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมีเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น พฤติการณ์ของจำเลยมีการให้อาหารสุนัขเป็นประจำอย่างต่อเนื่องกัน 2-5 ปี มีการให้ที่อยู่อาศัยหลับนอนบริเวณบ้าน และให้ลูกสุนัขที่เกิดจากสุนัขดังกล่าวแก่คนอื่น พฤติการณ์เหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่า จำเลยเลี้ยงดูสุนัขดังกล่าวอย่างเป็น เจ้าของสุนัข มิใช่เพียง การให้ความเมตตาแก่สุนัขจรจัดทั่วไป เท่านั้น
อีกทั้งก่อนหน้านี้ สุนัขดังกล่าวเคยไปกัดไก่ เป็ด โค ของผู้อื่นมาหลายครั้ง ถือเป็น สัตว์ดุ จำเลยจึงต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดา เพราะอาจทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ แต่จำเลยมิได้กระทำ มิได้ล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ กลับปล่อยให้สุนัขวิ่งไปทั่วหมู่บ้านได้จนไปกัดเด็กถึงตาย การกระทำของจำเลยปราศจากความระมัดระวัง จึงมีความผิดทั้งอาญาและแพ่ง
ดร.สาธิตกล่าวด้วยว่า ปัญหาการเป็นเจ้าของหรือความรับผิดชอบต่อสุนัขจรจัด ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของที่ต้องรับผิดชอบ แต่เคยมี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 ตัดสินให้ พนักงาน ท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบ (สุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับกักขัง เพื่อรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น และเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ แต่กลับปล่อยปละละเลยจนสุนัขจรจัดไปรุมกัดนกกระจอกเทศในฟาร์ม อบต.จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย)
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์ต้อง มีความรับผิดชอบต่อสัตว์ของตนเอง ให้มากที่สุด ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตัวสัตว์ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องมีความพร้อมรับผิดชอบสัตว์นั้นตลอดชั่วอายุขัย ไม่ปล่อยทิ้งให้กลายเป็นสัตว์จรจัด สร้างความเสียหายเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
หากเจ้าของไม่ประสงค์จะเลี้ยงต่อ ถ้าหาเจ้าของใหม่ไม่ได้ ก็ควรส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแล เช่น ส่งมอบให้ กทม.ดูแล โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูตามที่ผู้ว่าฯ กทม.กำหนด แต่หากนำไปปล่อยทิ้งในวัด หรือสถานที่อื่นใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มาตรา 23 ระวางโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
สำหรับคนทั่วไปถ้าพบเห็นสุนัขจรจัด แทนที่จะให้อาหารกินอิ่มได้แค่มื้อสองมื้อ ผมแนะนำให้โทร.แจ้งพนักงานท้องถิ่นดีกว่าจะได้มาดูแลจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม และทำหมันลดจำนวนสุนัขจรจัดไปด้วย.
ลมกรด