โรคซึมเศร้า ภัยเงียบที่แสนอันตราย หากรู้เร็ว ก็รักษาได้ไว


ในปัจจุบัน มีผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเข้าใจของใครหลาย ๆ คน คือ คนเราเป็นซึมเศร้า เพราะไม่สามารถสู้กับปัญหาได้ จนเกิดความท้อแท้และผิดหวัง หากพูดปลอบใจ ก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้

แต่ความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคภัยประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายไม่ต่างจากโรคภัยอื่น ๆ และจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้อาการหนักและเกิดปัญหาอื่น ๆ อย่างการคิดฆ่าตัวตายตามมาได้

โรคซึมเศร้าคืออะไร รู้จักกับโรคทางใจที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

หลายคนเข้าใจว่า โรคซึมเศร้าคือ สภาวะจิตใจที่อ่อนแอ คิดมาก ไม่เข้มแข็ง ไม่สู้ปัญหา ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ จนเกิดอาการซึมเศร้า หากมีการพักผ่อน หรือปลอบโยน ก็จะมีอาการดีขึ้น หรือสามารถหายได้ แต่แท้จริงแล้ว โรคซึมเศร้านี้ เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยอาจจะมีปัจจัยเข้ามากระตุ้นหรือไม่ก็ตาม

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ Depressive Episode) คือโรคทางอารมณ์ที่มีความผิดปกติจากทางสมอง ด้วยสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) เกิดความไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม

โดยโรคซึมเศร้านี้ จะมีสภาวะที่จิตใจหม่นหมอง รู้สึกท้อแท้ มองโลกในแง่ร้าย และรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง โดยมีอาการในลักษณะนี้ ต่อเนื่องนานมากกว่า 2 สัปดาห์ จนถึง 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ดังนั้น ถ้าหากเป็นโรคนี้ ก็ควรจะเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ภายใต้แพทย์ผู้ดูแลเฉพาะทาง

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

หลายคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร ทำไมในปัจจุบัน มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจากหลายกรณี ดังต่อไปนี้

  • สารสื่อประสาทในสมอง

สำหรับสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุภายในร่างกายที่เกิดความไม่สมดุลของสื่อประสาท ทั้ง 3 ชนิด คือ ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน

  • กรรมพันธุ์

กรรมพันธุ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุโรคซึมเศร้า เพราะถ้าหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า เราก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นด้วยเช่นกัน

  • ความเครียดและสภาพแวดล้อม

โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียดด้วยเช่นกัน ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นโรคเรื้อรัง สภาพจิตใจอาจจะเกิดความวิตกกังวล ทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น

  • เพศและฮอร์โมน

โรคซึมเศร้าสาเหตุหนึ่งก็มาจากเพศและฮอร์โมนภายในร่างกาย จากรายงานจะพบว่า เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย รวมถึงเพศหญิงที่มีช่วงเวลาที่มีความแปรปรวนหรือความผิดปกติของฮอร์โมน จึงส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

รู้จักกับอาการของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของสื่อประสาทในสมอง สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โดยอาการของโรคซึมเศร้าหลัก ๆ ที่เราสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน ได้แก่

  • รู้สึกเศร้าท้อแท้ เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบข้าง อารมณ์อ่อนไหว หรือหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายมากขึ้น และเป็นอย่างต่อเนื่อง
  • เริ่มแยกตัวไม่อยากยุ่งกับใคร เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมจนเป็นที่สังเกตได้ของคนรอบข้าง
  • พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากกว่าเดิม หรือมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือโทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
  • ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ หลงลืมบ่อย ทำงานผิด ๆ ถูก ๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  • มีความคิดเรื่องไม่อยากมีชีวิต คิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงความตาย อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
  • พูดช้า เคลื่อนไหวช้าลง ทำอะไรช้าลง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย หรือไม่อยู่นิ่ง

โรคซึมเศร้าในเด็ก

เด็กเองก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยอาจจะมีอาการ ดังนี้

  • อาการก้าวร้าว อาละวาด ร้องไห้ง่าย
  • อาการเศร้าซึม
  • รู้สึกสิ้นหวังเวลาถูกปฏิเสธ
  • ถูกขัดใจก็จะอ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ขี้ใจน้อย
  • ใช้คำพูดรุนแรง
  • มองโลกในแง่ร้าย

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุสามารถพบได้บ่อย และไม่ถือว่าเป็นภาวะปกติของคนสูงวัย โดยมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • พฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
  • ความทรงจำถดถอย
  • มีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย
  • มีปัญหาด้านการนอน
  • หมดความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับยาหรืออาการอื่น ๆ
  • มีความคิดหรือความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในเพศชายสูงอายุ

ประเภทของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท โดยแต่ละประเภทก็มีรายละเอียด และอาการของโรคที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)

โรคซึมเศร้า หรือ Major Depressive Disorder คือ อาการซึมเศร้า ที่มีระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ โดยปกติ มักมีอาการเศร้าซึมมาก จนไม่มีความสุขหรือไม่สนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยชอบ รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง รู้สึกไร้ค่า อาจจะมีอาการหลง หูแว่วประสาทหลอนเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนั้น

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression)

โรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่โดยมาก มักจะเกิดกับฝ่ายหญิงมากกว่า มีอาการรุนแรงและอาจจะยาวนานถึงหนึ่งปี อาการมักแสดงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ได้แก่ อารมณ์แปรปรวนรุนแรง วิตกกังวลอย่างหนัก ร้องไห้บ่อย ไม่รู้สึกผูกพันกับบุตร รู้สึกสิ้นหวัง คิดเรื่องการทำร้ายตัวเองและบุตร สับสน ไม่มีสมาธิ รู้สึกไร้ค่า และคิดว่าตนเองเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia Depression)

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิด Major Depressive Disorder แต่จะมีอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 ปีอาการไม่รุนแรงมาก หากแต่จะรู้สึกไม่อยากอาหารหรือกินมากไป เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ไม่ค่อยมีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง ขาดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกหมดหวัง

โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder)

โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนหรือระดู จะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีประจำเดือน และอาการจะดีขึ้นใน 2 – 3 วันหลังจากมีประจำเดือน โดยมักมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย ดูถูกตนเอง ไม่อยากทำอะไร

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder – SAD)

โรคซึมเศร้า เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนฤดูกาล ส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงเข้าฤดูหนาว เรียกว่า Winter Blues เพราะบรรยากาศรอบตัวที่ดูแห้งแล้ง อุณหภูมิลดลง ก็จะทำให้เรามีอาการซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ารักษาอย่างไรบ้าง

คำถามต่อมา คือ “โรคซึมเศร้าหายได้ไหม” หรือ “โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม” ในปัจจุบันมีการรักษาและบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยหลากหลายวิธี ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยที่เราไม่ควรรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด

รักษาด้วยจิตบำบัด

วิธีแรกของการรักษาโรคซึมเศร้า คือ จิตบำบัดโรคซึมเศร้า (Psychotherapy) เป็นการรักษาโดยที่ไม่ต้องใช้ยา เป็นการ “พูดคุย” กับจิตแพทย์ จำนวน 10 – 20 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

รักษาด้วยยา

การรักษาซึมเศร้าด้วยยา โดยยารักษาโรคซึมเศร้าจะทำหน้าที่ปรับสารสื่อประสาทที่ควบคุมเรื่องอารมณ์ในสมอง ให้กลับมาทำงานปกติ จะต้องทานต่อเนื่องจะใช้เวลา 4 – 6 สัปดาห์ ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ ที่สำคัญ ควรทานยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยอาจเลือกปรึกษาแพทย์ออนไลน์จากบริการที่เชื่อถือได้อย่าง Bedee ที่ให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ภายใต้มาตรฐานเครือ BDMS

รักษาด้วยไฟฟ้า

โรคซึมเศร้ารักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีอาการรุนแรงมากเฉียบพลัน หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง หรือมีอาการโรคจิตร่วม เป็นการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าขนาดต่ำมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองเหมือนกับที่พบในผู้ป่วยที่มีอาการลมชัก

การป้องกันโรคซึมเศร้า

อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้น เราจะต้องปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ดังนี้

  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
  • ทันความคิดและจิตใจของตัวเอง มองโลกในแง่ดี เป็นคนคิดบวก ไม่คิดร้ายกับใคร
  • เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยทำกิจกรรมยามว่างที่สนุกสนาน คลายเครียด
  • ตัดสิ่งที่บั่นทอนตัวเองออกจากชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในตัวเองที่มากเกินไป ไม่นำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน ความรับผิดชอบที่หนักเกินไป เป็นต้น

สรุปเรื่องโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าหมายถึง อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งไม่ใช่สภาวะทางจิตใจที่ท้อแท้เพียงอย่างเดียว และสามารถรักษาได้เพียงคำพูด หรือการปลอบโยนเท่านั้น โดยเราสามารถรักษาได้ ด้วยการบำบัด การใช้ยา และการใช้ไฟฟ้า ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ควรรักษาซึมเศร้าด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการหนักขึ้น และไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *