รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เป็นเวลา 8 ปีเต็มแล้ว นับตั้งแต่มีการร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2573) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือน ก.ย. 2558 จาก 193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้การบริโภคอาหารของคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เกือบทุกคนมุ่งมั่นที่จะรับประทานอาหารเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและมีความสมดุล แต่รู้หรือไม่ว่าการรับประทานอาหารของคนเราทุกวันนี้ส่งผลต่อสวัสดิการสังคม (Social welfare) และสุขภาพของโลก (Health of the planet) อาหารหลายชนิดที่คนเรากินอาจมีรสชาติอร่อยแต่กลับส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศ
องค์การสหประชาชาติประมาณการว่าอุตสาหกรรมอาหารเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบต่อการใช้พลังงานของโลก ร้อยละ 30 และการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ร้อยละ 22 ขณะที่กรีนพีซชี้ให้เห็นในรายงานเรื่องความยั่งยืนด้านอาหารประจำปี 2561 (2018) ว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเพียงอย่างเดียวมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 14 ส่วนองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คำนวณว่าภายในปี 2593 (2050) โลกจะมีประชากรมากกว่า 9 พันล้านคน ส่งผลให้โลกต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60
ท้องทะเลเป็นแหล่งอาหารสำคัญแห่งหนึ่งที่ต้องทนทุกข์ทรมานหรือเดือดร้อนจากผลพวงของการรับประทานอาหาร ที่ขาดความรับผิดชอบของมนุษย์ เช่น การจับปลาในปริมาณที่มากเกินไปจนนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทางทะเล โดยในปี 2563 (2020) การผลิตปลามีจำนวนมากกว่า 200 ล้านตัน และปริมาณปลาที่มนุษย์บริโภคคิดเป็น 20.2 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากตัวเลขในปี 2503 (1960) ที่การบริโภคปลามีตัวเลขอยู่ที่ 9.9 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งหมายความว่าจะมีปลาเพียงร้อยละ 64.6 สายพันธุ์เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนภายใต้ระบบนิเวศทางทะเล
ปัญหาด้านสุขภาพตกเป็นเหยื่อรายใหญ่อีกประการหนึ่งของการบริโภคอาหารของคนเรา ระบบอาหารในปัจจุบันเป็นอันตรายและก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งอันตรายจากการบริโภคและโรคภัยนี้มีความเชื่อมโยงกับ การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ธัญพืชขัดสี และน้ำตาล กรีนพีซระบุว่าผู้เสียชีวิต 1 ใน 5 ทั่วโลก มีสาเหตุจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีผัก ผลไม้ และธัญพืช ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุดในการพัฒนาโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเยอรมนี บราซิล และสวีเดน ได้นำเอาความยั่งยืนของอาหารบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านอาหารและการศึกษาตามการแนะนำขององค์การอาหารและการเกษตรฯ สำหรับประโยชน์ของการมีระบบอาหารที่ยั่งยืน อาทิ การช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องผืนป่า การมีสุขภาพที่ดีและความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการอยู่รอดของสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่เปราะบาง และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
วิธีการลดหรือบรรเทาความท้าทายที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรอาจหันมาทำฟาร์มออร์แกนิกอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับประชากรทั้งหมดแต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความเสียหายหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยกิจกรรมนี้สามารถผสมผสานกับการเลี้ยงปศุสัตว์แบบยั่งยืนให้มากขึ้น สัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูจะถูกเลี้ยงด้วยความเคารพและปราศจากความทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุถึงความยั่งยืนด้านอาหารอย่างจริงจังจำเป็นอย่างยิ่งที่คนเราจะต้องปฏิบัติคือ ‘ลดการบริโภคเนื้อสัตว์’ และ ‘ลดขยะที่มาจากอาหาร’
ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) จะเกี่ยวข้องกับการทำให้การผลิตและการบริโภคมีความยั่งยืนมากขึ้น และการลดปริมาณวัสดุที่ใช้และของเสียที่ผลิตได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้มีการกำหนดให้มีแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ การลดการสูญเสียและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน การจัดการของเสียและสารเคมีอย่างถูกวิธีเพื่อลดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การลดของเสียโดยสนับสนุนหลักปฏิบัติในการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ฯลฯ
เมื่อหันมามองผลงาน “จิ๊กซอว์” หนึ่งที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตด้านการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนชุมชน ประเทศ และโลกไปสู่ความยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็มีเช่นกัน อาทิ พื้นที่ “หอมขจรฟาร์ม” ภายใต้แนวคิดเกษตรใหม่ ต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือ “Green & Clean University” ที่ส่งเสริมการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะจากการดำเนินกิจกรรมเชิงวิชาการและธุรกิจวิชาการเพื่อรับใช้สังคมและชุมชน
การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดในอีก 7 ปีข้างหน้า (2573) ของสหประชาชาติจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องฝากเอาไว้ในมือของทุกคน และพึงตระหนักว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงคือ “การไม่ทิ้งปัญหาอื่นตามมาให้กับคนรุ่นหลัง” ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ครับ…