ไขปริศนาเมือง “ทูร์เคีย” หรือ “ตุรกี” ทำไมจึงมี “แมวจร” อยู่เป็นแสนตัว


ถ้าใครเคยไปประเทศ “ทูร์เคีย” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเดิม “ตุรกี” เชื่อว่าจะต้องเคยเห็นน้องแมวจรจัดขนสวย สะอาดสอ้าน รูปร่างดี (และบางตัวก็เข้าขั้นอวบอ้วน) อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หน้าบ้านคน แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งในโบราณสถาน 

ทั้งในเมืองอิสตันบูล อิสเมียร์ หรือ คัปปาโดเกีย ชื่อเสียงเรื่อง “แมว” ของที่นี่โด่งดังจนมีคนเอาไปทำเป็นภาพยนตร์สารคดี (Kedi, 2016) บอกเล่าชีวิตแมวจรในเมืองอิสตันบูล ที่มีอยู่เป็นแสนๆ ตัว

“พระเจ้าท้ายสระ” ผู้เวนคืนราชสมบัติ ต้นเหตุสงครามชิงบัลลังก์อโยธยา

ไล่เลียงลำดับ กษัตริย์อยุธยา “พระนารายณ์-พระเพทราชา” อยู่ในช่วงไหน?

ภาพ : แมวจรบริเวณทางขึ้นปราสาทอูชิซาร์ในเมืองคัปปาโดเกีย

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในทูร์เคีย 6 วัน 5 คืน ไม่มีวันไหนไม่เจอแมว แมวที่นั่นเดินไปเดินมาได้อย่างอิสระ แม้จะมีบางร้านอุปการะให้อาหารมันโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้กั้นพื้นที่ให้มันอยู่เฉพาะบริเวณร้าน

แมวบางตัวเข้าไปได้ถึงในแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อตั๋วเข้าไป บางตัวนอนชิลล์อยู่บนซากปรักหักพังของโบราณสถานอายุ 2,000 ปี ฝ่าเชือกกั้นได้โดยไม่มีใครว่าอะไร คล้ายจะบอกว่าที่นี่พวกมันเป็นใหญ่

ภาพ : แมวจรบนซากปรักหักพักของเมืองโบราณ “เอฟิซัส” ที่มีอายุ 2,000 ปี

“แซร์ฌาน” ไกด์ชาวทูร์เคียที่พาเราเที่ยว เล่าว่า สาเหตุที่แมวจรที่นี่มีเยอะเพราะความเชื่อทางศาสนาอิสลามที่เชื่อว่า “อัลเลาะห์” สร้างทุกสิ่งมีชีวิต คนทูร์เคียก็เลยต้องปกป้องดูแลมัน ทิ้งอาหารและน้ำไว้ทุกหัวมุมให้พวกมันได้กิน 

มีคนทูร์เคียบางคนถึงกับอุทิศตัวแบกเป้ที่เต็มไปด้วยอาหารแมวแล้วตามหาแมวจรเพื่อจะให้อาหารมันในแต่ละวัน บางคนที่รักมันมากๆ ก็ทำที่พักให้มันอาศัย มีแม้กระทั่งสร้างบ้านหรือแบ่งห้องในบ้านของตัวเองให้แมวเป็นสิบๆ ตัวอยู่หลบแดด ฝน และอากาศหนาว โดยเฉพาะ 

วัฒนธรรมการดูแลแมวอย่างดีของชาวทูร์เคีย ทำให้เวลาขี้เกียจแล้วไม่อยากทำงาน จะชอบพูดติดตลกกันว่า “อยากเป็นแมวที่คาดึคอย” ซึ่งเป็นย่านคนรวยในเมืองอิสตันบูล เพราะแมวที่นั่นอ้วนมากและถูกเลี้ยงดูแบบสปอย

ภาพ : “แซร์ณาน” ไกด์ท้องถิ่นชาวทูร์เคีย

แซร์ฌานบอกว่า ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ดูอย่างแมวดังของเมืองอย่างเจ้า “ทอมบิลี่” (Tombili) ที่เป็นมีมในอินเตอร์เน็ตจนมีคนสร้างรูปปั้นแทนตัวหลังมันตาย 
 
ไม่ใช่แค่แมวที่ชาวทูร์เคียดูแล แต่ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ เช่น หมา และนก “แซร์ฌาน” เล่าว่า ตามความเชื่อ สัตว์เหล่านี้ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องดูแล บางบ้านโปรยอาหารไว้บนหลังคาให้นกได้กิน และบางคนอุปการะสัตว์บางตัวไว้โดยเฉพาะ 

แต่คนทูร์เคียโดยทั่วไปก็ดูแลมันอย่างดี แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของ และไม่ใช่แค่ในระดับประชาชน แต่ระดับรัฐ องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณจากภาษีส่วนหนึ่งที่แบ่งไว้ดูแลสัตว์โดยเฉพาะ หากคนทูร์เคียพบสัตว์จรจัดป่วย สามารถโทรหาหน่วยงานท้องถิ่นให้ส่งสัตวแพทย์มารักษา

ภาพ : แมวจรบนซากปรักหักพักของเมืองโบราณ “เอฟิซัส” ที่มีอายุ 2,000 ปี

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐท้องถิ่นในทูร์เคีย มีการสำรวจประชากรหมาจรจัดและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ โดยจะติดป้ายที่หูไว้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อป้องกันกรณีหมาไปกัดคน ซึ่งแทบไม่เกิดขึ้นเพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคน แต่ก็เคยมี รัฐบาลจึงต้องป้องกันไว้ก่อน 
 
ประชากรหมาแมวจรจัดที่มีจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งก็มีข้อถกเถียงในหมู่ชาวทูร์เคียเหมือนกัน แซร์ฌานเล่าว่าคนทูร์เคียแบ่งเป็นสองฝ่าย 

ฝ่ายหนึ่งมองว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ควรมาอยู่ข้างถนน ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าให้พวกมันได้อยู่อย่างอิสระแบบเดิมดีกว่า ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็กำลังพยายามจะแก้ปัญหาประชากรสัตว์จรจัดล้นเมือง มีการสร้างที่พักให้พวกมันโดยเฉพาะแต่ยังไม่เพียงพอ และมีการทำหมัน แต่วิธีนี้ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล อนาคตจึงยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทูร์เคียจะดำเนินการอย่างไรกับพวกมัน แต่แซร์ฌานเชื่อว่าประชากรสัตว์เหล่านี้จะน้อยลง

ภาพ : ลูกแมวหลบหนาวในลังกระดาษที่คนเจาะช่องให้มันนอนในเมืองอิสตันบูล

นอกจากนี้ แม้ชาวทูร์เคียส่วนใหญ่จะรักพวกมัน แต่ก็มีบางคนไม่ชอบและทำร้ายพวกมันเหมือนกัน ซึ่งแม้ทูร์เคียจะมีกฎหมายห้ามทารุณกรรมสัตว์และมีโทษจำคุก แต่ว่าในทางปฏิบัติเมื่อขึ้นศาลแล้ว ศาลมักจะพิจารณาตัดสินโทษแค่ปรับเงิน เพราะคุกที่นี่แน่นมากแล้วและไม่อยากเอาคนเข้าคุกเพิ่มด้วยฐานความผิดที่ดูจะส่งผลกระทบกับคนทั่วไปน้อยกว่าความผิดอื่นๆ 
 
เหรียญมีสองด้านฉันใด ความน่ารักน่าหยุมพุงของน้องแมวที่นี่ก็มีอีกด้านฉันนั้น แต่ในอีกด้านเราเห็นความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลและคนทูร์เคียให้สัตว์และคนอยู่ร่วมกันได้

นี่เป็นอีกสเน่ห์ของทูร์เคียที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส นอกจากความงดงามของวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างเอเชียและยุโรป และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทั้งจากยุคกรีก โรมัน และจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ

เรื่อง/ภาพ โดย นงนภัส พัฒน์แช่ม ผู้สื่อข่าว PPTV

TOP ไลฟ์สไตล์

วิดีโอยอดนิยม

เรื่องที่คุณอาจพลาด


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *