28 กันยายน วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก โรคพิษสุนัขบ้า : รวมใจเป็นหนึ่ง สุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อทุกชีวิต


<!– –>
<!– –>

         วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก กรมควบคุมโรค ในฐานะภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ กระตุ้นเตือนประชาชนในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ เร่งสนองพระปณิธานของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยในปี 2566 นี้ มีประเด็นสารในการรณรงค์ว่า Rabies: All for 1 one health for all โรคพิษสุนัขบ้า : รวมใจเป็นหนึ่ง สุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อทุกชีวิต ถึงแม้ว่าแนวโน้มปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทยจะลดลงมาก แต่กรมควบคุมโรคยังขอย้ำเตือนให้ประชาชนตระหนักว่า โรคนี้ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก องค์กรรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก (Global Alliance for Rabies Control) กำหนดให้เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลก รู้ถึงความรุนแรงของโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า Rabies: All for 1 one health for all โรคพิษสุนัขบ้า : รวมใจเป็นหนึ่ง สุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อทุกชีวิต โดยโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากป่วยแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยเกิดจากสุนัขเป็นหลัก ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนของเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2566 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย ที่ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ สาเหตุจากการถูกสุนัขกัด และไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค

         ส่วนสถานการณ์ในสัตว์พบว่า มีสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 27 ตัวอย่าง โดยพบที่ จ.สุรินทร์ 14 ตัวอย่าง พบผู้สัมผัสจำนวน 163 คน จังหวัดบุรีรัมย์ พบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 13 ตัวอย่าง พบผู้สัมผัสจำนวน 46 คน (ที่มา : Thai Rabies.net)

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยได้  โดยใช้หลัก 3 ป. ดังนี้ 

         ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค  โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ

         ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง  นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ   2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

         ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่ายๆ คือ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ” เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

         หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *