ก่อน “ต่อภาษีรถยนต์” ทางสภาองค์กรผู้บริโภค ได้มีการแจ้งเตือนเจ้าของรถ ที่จะทำการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ตรวจสอบว่ารถยนต์ของตัวเอง อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยน “ถุงลมนิรภัย” หลังมีรายงานปัญหาการทำงานผิดปกติของถุงลมนิรภัย ยี่ห้อ ทาคาตะ (Takata) ในรถยนต์ที่ผลิต และจำหน่ายในระหว่างปี 2541 ถึงปี 2561 ที่เป็นปัญหาในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับรถและผู้โดยสาร
โดย ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา หน่วยงานประจำ จ.พะเยา สภาผู้บริโภค ชวนผู้บริโภคตรวจใบเสร็จ หลังจากทำการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่อตรวจสอบว่ารถยนต์ของท่านอยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ พร้อมอัปเดตรถยนต์รุ่นที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยน “ถุงลมนิรภัย” ได้แก่
- เซฟโรเลต (รุ่นปี 2007 – 2015)
- บีเอ็มดับบลิว (รุ่นปี 1998 – 2018)
- ฟอร์ด (รุ่นปี 1998 – 2014)
- ฮอนด้า (รุ่นปี 1998 – 2014)
- มาสด้า (รุ่นปี 2004 – 2014)
- มิตซูบิชิ (รุ่นปี 2005 – 2015)
- นิสสัน (รุ่นปี 2000 – 2014)
- โตโยต้า (รุ่นปี 2001 – 2014)
- จากัวร์ (รุ่นปี 2009 – 2015)
- แลนด์ โรเวอร์ (รุ่นปี 2007 – 2012)
- ซูบารุ (2003 – 2014)
- เทสล่า (รุ่นปี 2012 – 2016)
- โฟล์คสวาเกน (รุ่นปี 2006 – 2018)
- อาวดี้ (รุ่นปี 1998 – 2017)
- เมอร์เซเดส-เบนซ์ (รุ่นปี 2005 – 2017)
- เล็กซัส (รุ่นปี 2002 – 2017)
ทั้งนี้ การเสียชีวิตจาก “ถุงลมนิรภัย ทาคาตะ (Takata)” เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และได้มีการเรียกคืนรถจำนวนเกือบ 100 ล้านคัน เพื่อเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ประเทศไทยมีรถจำนวนกว่า 1.7 ล้านคัน ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยดังกล่าว และได้มีการเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีรถอีกกว่า 6 แสนคัน ที่ยังไม่ได้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลม
โดยที่ผ่านมา ทางกรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ ได้ร่วมกันจัดทำและเปิดใช้งาน “ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย” ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2566 เพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถ ทั้งที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ และระบบชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ (DLT E-Service) หากระบบตรวจสอบและพบว่า เป็นรถที่เข้าข่ายเปลี่ยน “ถุงลมนิรภัย” เจ้าหน้าที่จะทำการแจ้งโดยทันที
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการด้านทะเบียนและภาษีรถแล้วเสร็จ จะมีข้อความเตือนที่ใบเสร็จรับเงินให้นำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการใกล้บ้านหรือตรวจสอบข้อมูลได้ที่ www.checkairbag.com อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในประเทศไทย เคยมีกรณีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งจากการชันสูตรยืนยันได้ว่า เป็นการเสียชีวิตจากชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจาก “ถุงลมนิรภัย” หนึ่งในการชันสูตรศพกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เคยเกิดขึ้น ได้พบบาดแผลผู้เสียชีวิตฉีกขาดเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 ซม. บริเวณกลางหน้าอกด้านบน ลึกไปจนถึงกระดูกสันหลังช่วงคอ และพบชิ้นส่วนโลหะฝังตัวในกระดูกสันหลัง
โดยสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากชิ้นส่วนโลหะ ที่ทะลุบริเวณคอและหน้าอกส่วนบน ทั้งนี้ ชิ้นส่วนโลหะดังกล่าว มีลักษณะเข้าได้กับชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นยี่ห้อทาคาตะ