ผวาละครฉากใหม่ รธน.


Poll_Srettha_Government

ผวาละครฉากใหม่ รธน.

นับจากนี้ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นที่น่าสนใจยิ่ง

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ได้รับมอบหมายโดยมติ ครม.เมื่อ 13 กันยายน ให้เป็นประธานกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ

ที่ผ่านมาภูมิธรรมได้ประกาศว่าคณะกรรมการจะประกอบด้วยตัวแทนองค์กรภาคส่วนต่างๆ ไม่เกิน 30 คน และจะเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้

มติ ครม.กำหนดว่า การจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของ รธน.2560 ที่ว่าด้วยพระราชอำนาจ

มีข้อสังเกตว่า การรณรงค์ของกลุ่มประชาชนที่รวบรวมรายชื่อกว่า 2 แสนคน ได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และส่งไปให้ ครม.แล้ว

ข้อเสนอ 2 ข้อของกลุ่มประชาชนที่จะไปสอบถามในการออกเสียงประชามติ ไม่น่าจะเป็นไปได้

หนึ่ง เสนอให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้จัดทำ รธน.ฉบับใหม่

หนึ่ง การเขียน รธน.ใหม่ทั้งฉบับซึ่งหมายถึงการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

ถามว่าทำไม “ไม่น่าจะเป็นไปได้”

หนึ่ง ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด พรรคก้าวไกลจะกวาด ส.ส.ยกจังหวัดมากที่สุด

พรรคการเมืองคู่แข่งทั้งหลาย รวมทั้ง ส.ว.จะไม่ยอมแก้ มาตรา 256 ให้เป็นไปตามที่กลุ่มประชาชนเรียกร้อง

แต่น่าจะให้ออกมาในรูปผสมกัน ระหว่าง ส.ส.ร.เลือกตั้ง กับ ส.ส.ร.แต่งตั้งหรือไม่?!

หนึ่ง มติ ครม.ที่ไม่ให้แตะหมวด 1 หมวด 2 ย่อมส่งผลให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.พร้อมใจกันลงมติตามแนวทางของรัฐบาลเป็นสำคัญ

พรรคก้าวไกลหัวเดียวกระเทียมลีบในสภา ส.ส.จะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่อาจเอาชนะได้เลย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนว่า จะไม่เอาด้วยกับการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

ส.ส.ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและด้อมส้มก็ว้าวุ่นเลยล่ะทีนี้!

ส่วนแนวโน้มที่จะเป็นไปสำหรับการออกเสียงประชามติและการจัดทำ รธน.ใหม่โดย ส.ส.ร.

หนึ่ง จะได้เห็นการเข้ามามีบทบาทของ ส.ว.กลุ่มขวาจัด ที่จะกำหนดสาระที่มาของ ส.ส.ร.ในมาตรา 256 ในทางที่จะเปิดช่องให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันยังอยู่ในวงจรอำนาจของการมีตำแหน่งทางการเมือง

หนึ่ง ไม่มีทางที่จะเลือกตั้งได้เร็ว ที่เคยได้ยินนักการเมืองพูดว่า ร่าง รธน.เสร็จจะยุบสภาทันทีเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด

นอกจากจะต้องใช้เวลากับการประชุมของคณะกรรมการชุดที่นายภูมิธรรมเป็นประธาน

การรณรงค์ออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนโหวตในคำถามที่จะถาม หลังจากผ่านประชามติยังต้องมีกระบวนการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.

แน่นอนว่า ส.ส.ร.ในส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ต้องใช้เวลากับการเลือกตั้ง

รวมทั้งในส่วนของ ส.ส.ร.จากการสรรหาก็ต้องใช้เวลาไปพร้อมๆ กัน

จากนั้น ส.ส.ร.ก็ต้องใช้เวลาในการประชุมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เมื่อจัดทำร่าง รธน.เสร็จ ต้องใช้เวลาไปออกเสียงลงประชามติอีกรอบเพื่อถามประชาชนว่า จะเห็นชอบร่าง รธน.นี้หรือไม่?

หลังลงประชามติเห็นชอบ ก็ต้องมีกระบวนการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก

ดูไทม์ไลน์แล้วก็จะลากยาวไปจนครบวาระของสภาชุดนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกเกือบ 3 ปีครึ่ง

ความมุ่งหวังของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” กล่าวถ้อยแถลงบนเวทีสหประชาชาติ ที่ว่า “ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและกำลังเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐธรรมนูญและค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย” นั้น

อาจกลายเป็นการกลับคำพูดอีกครั้งหนึ่งหรือไม่?!

ละครการเมืองเรื่องรัฐบาลสลายขั้ว ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ยังหลอนหลอกให้หวาดผวาอยู่ไม่หาย?

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *