หุ้นกลุ่มยานยนต์-ค่ายรถต่างๆ จะเริ่มผลิตรถ BEV มากขึ้นในปี 2567


เกิดอะไรขึ้น:

ในเดือนสิงหาคม ยอดผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอยู่ที่ 150,657 คัน (ลดลง 12%YoY แต่เพิ่มขึ้น 1%MoM) ถูกฉุดรั้งโดยยอดขายรถยนต์ในประเทศที่อ่อนแอที่ 60,234 คัน (ลดลง 12%YoY แต่เพิ่มขึ้น 3%MoM) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ (ลดลง 29 %YoY) ซึ่งลดลง YoY ติดต่อกัน 8 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากการคุมเข้มสินเชื่อรถยนต์จากสถาบันการเงินสืบเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนสูง ยอดส่งออกรถยนต์แข็งแกร่งที่ 87,555 คัน (เพิ่มขึ้น 19%YoY แต่ลดลง 19%MoM) โดยได้แรงหนุนจากตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรปเป็นหลัก สำหรับช่วง 8M66 ยอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.22 ล้านคัน (เพิ่มขึ้น 3%YoY)

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก ยอดจดทะเบียนรถ BEV ใหม่ (ประเภท 4 ล้อ) เร่งตัวขึ้นจาก 2,006 คันในปี 2564 สู่ 9,614 คันในปี 2565 และ 43,259 คันในช่วง 8M66 ทำให้สัดส่วนรถ BEV เพิ่มขึ้นจากเพียง 0.3% ในปี 2564 สู่ 1.1% ในปี 2565 และ 7.1% ในช่วง 8M66 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าราคาที่จับต้องได้มากขึ้นหลังจากผู้ผลิตรถยนต์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้รถ BEV ของรัฐบาล (EV 3.0) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ทำให้รถ BEV ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด 

ผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้รถ BEV ในปัจจุบันจะได้รับอนุญาตให้นำเข้ารถ BEV เพื่อจำหน่ายพร้อมกับมาตรการสนับสนุนด้านราคาซึ่งจะสิ้นสุดในปีนี้ รัฐบาลวางแผนประกาศต่ออายุโครงการสนับสนุนการใช้รถ BEV (หรือ EV 3.5) ในปีนี้ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ผลิตรถยนต์เข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ความต้องการซื้อรถ BEV ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้โครงการสนับสนุนการใช้รถ BEV ในปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ที่ตัดสินใจนำเข้ารถ BEV เพื่อจำหน่ายระหว่างปี 2565-2566 จะต้องผลิตรถ BEV ในประเทศไทยเพื่อขายในประเทศและส่งออกภายใน 2 ปี (ที่อัตราส่วน 1 คัน ต่อรถ BEV นำเข้า 1 คัน ถ้าเริ่มการผลิตในปี 2567 หรือที่อัตราส่วน 1.5 คัน ต่อรถ BEV นำเข้า 1 คัน ถ้าเริ่มการผลิตในปี 2568) นับถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่จากประเทศจีน ได้แก่ BYD และ NETA เป็นผู้นำตลาดรถ BEV ที่วางแผนเริ่มการผลิตในปี 2567 

โดยในระยะแรกการผลิตรถ BEV ในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากยอดจดทะเบียนรถ BEV ที่ BYD และ NETA นำเข้ามาระหว่างปี 2565-8M66 อยู่ที่ราว ~2.4 หมื่นคัน หรือ ~1% ของประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม มองว่าการเริ่มผลิตรถ BEV ในประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิมได้รับคำสั่งซื้อใหม่ และยกระดับการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ (SETAUTO) ปรับลง 4.48%MoM และราคาหุ้น AH ปรับลง 1.43%MoM ขณะที่ SET Index ปรับลง 4.04%MoM 

กลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน:

ในระยะสั้น InnovestX Research มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงยอดขายรถยนต์ในประเทศและยอดส่งออกรถยนต์ โดยมองว่าแนวโน้มจะสดใสขึ้นในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ วางแผนเริ่มผลิตรถ BEV ในประเทศไทย และคาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิมจะมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อใหม่ และยกระดับการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 

สำหรับหุ้นเด่นในกลุ่มยานยนต์ เลือก AH เนื่องจาก 1. การลงทุนใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มการเติบโตในอนาคต AH ได้เข้าลงทุนในบริษัท 2 แห่งเมื่อไม่นานนี้ (AAPICO Avee และ Purem AAPICO) ซึ่งจะช่วยหนุนให้ประมาณการกำไรปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 4-8% 2. AH เดินหน้ารุกตลาด EV ชัดเจนกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่าง SAT และ STANLY และ 3. Valuation น่าสนใจที่ PE ปี 2566 ระดับ 6.7 เท่า 

ในปี 2566 คาดการณ์กำไรปกติของ AH ที่ 1.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8%YoY) และ 2.0 พันล้านบาทในปี 2567 (เพิ่มขึ้น 8%YoY) โดยกลยุทธ์การลงทุนให้เรตติ้ง Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 44 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PE ที่ 8.6 เท่า (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กำไรของ AH เติบโตตามปกติ)

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ 2. การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และ 3. ระดับของการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถ ICE ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิม


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *