เผยสถิติโรคหัวใจและหลอดเลือด ชี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก “โรช” มุ่งสร้างความตระหนัก



หัวใจที่แข็งแรงเป็นประตูสู่การมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease: CVD) ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกให้มีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี สหพันธ์หัวใจโลกจึงกำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) และสำหรับธีมรณรงค์ในปี 2566 นี้ คือ “Use heart, know heart is open-ended” 

ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และในทุกปีพบว่าผู้คนหลายล้านคนเสียชีวิตด้วยสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) กลายเป็นประเด็นที่น่ากังวล จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก และในเอเชียพบจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากที่สุด โดยสูงถึง 58% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากทั่วโลก หรือเป็นจำนวน 10.8 ล้านคน

ขณะที่ประเทศไทย พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน หรือ 58,681 คนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข)

ตามรายงาน “Heart Failure Unseen: Unmasking the gaps and escalating crisis in Asia Pacific” ของ “โรช” (Roche) ระบุว่า ในเวลาไม่ถึงสามทศวรรษ ระหว่างปี 2533-2562 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นถึง 12% หรือเท่ากับ 5.2 ล้านคน เนื่องจากจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย รวมถึงแนวโน้มการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุหลักทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีอัตราเสียชีวิตสูง (เกินกว่า 50% ในระยะเวลา 5 ปี)


๐ ปัจจัยเสี่ยงและอาการโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่สำคัญที่สุดของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ เมื่อโรคหัวใจมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมลง อาจนำไปสู่การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจพบโรคและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ด้วยการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้โรคหัวใจได้มีโอกาสทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

๐ ปัญหาใหญ่ของแพทย์ – การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

จากรายงาน Heart Failure Unseen: Unmasking the gaps and escalating crisis in Asia Pacific ได้ทำการศึกษาความไม่เพียงพอของมาตรฐานการดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน โดยพบว่า ปัญหาใหญ่ที่แพทย์ต้องเผชิญเมื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว คือการวินิจฉัยโดยพิจารณาจากอาการเป็นหลัก อาจเนื่องมาจากการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการวินิจฉัย และการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biological marker หรือ biomarker) ที่จำกัด

การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวโดยพิจารณาจากอาการเพียงอย่างเดียวคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวน 16.1% ได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาดจากโรงพยาบาล เนื่องจากอาการที่แสดงออกของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อ่อนเพลีย มีความคล้ายคลึงกับอาการป่วยอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง

๐ ประโยชน์ของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือ Biomarker ที่มีต่อการวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยที่ดีขึ้น และการยกระดับการเฝ้าระวังโรคที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือ biomarker ต่างๆ ของระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiacbiomarker) อย่างเช่น NT-proBNP สามารถมอบภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับงานวินิจฉัยและการบริหารจัดการผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งการได้เห็นภาพรวมในเรื่องสุขภาพ ร่วมกับการมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกรูปแบบการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้เป็นอย่างดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย นอกเหนือจากแนวปฏิบัติทางคลินิกระดับสากลที่แนะนำให้ใช้ NT-proBNP เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยแล้ว การศึกษาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังแสดงหลักฐานที่สะท้อนคำแนะนำเหล่านี้อีกด้วย

๐ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลวถือเป็นภาระอันหนักหน่วง เมื่อมองในมุมของการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายทางตรง อาทิ ค่าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ค่ายา ค่าบำบัดฟื้นฟูสภาพ และค่ารักษาสำหรับผู้ป่วยนอก ส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อม อาทิ ค่าความสูญเสียจากการทำงานได้ไม่เต็มที่ ค่ารักษานอกสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเสียชีวิตหรือเกษียณอายุก่อนเวลาอันควร

ในประเทศไทย มีตัวเลขประมาณการของค่าใช้จ่ายทางตรง 0.6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี และค่าใช้จ่ายทางอ้อม 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี[10] แบ่งเป็นค่าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 49% ในขณะที่ค่าตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) รายปีต่อหัว อยู่ที่ 3,513 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1.25 แสนบาท ค่าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหล้ว (Heart Failure) 7,181 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 แสนบาท และระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ยคนละ 14.2 วัน

จากข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Cardiology แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในเอเชียมักต้องกลับเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกครั้งหลังออกจากโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ การตรวจหาค่า NT-proBNP จะช่วยลดระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 12% ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยตรงได้ถึง 10% และลดอัตราการแอดมิทฉุกเฉินได้ถึง 50% ดังนั้น การดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ดีพอนำไปสู่การเพิ่มค่าใช้จ่ายจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในระบบสาธารณสุข อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางการเงินของผู้ป่วยในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการครอบคลุมในส่วนนี้และต้องออกค่าจ่ายด้วยตนเอง

๐ ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และภาวะหัวใจล้มเหลว

การเลิกสูบบุหรี่ การลดกินเค็ม การรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำ และการงดเว้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ประเทศต่างๆ ควรส่งเสริมนโยบายด้านสุขภาพที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่เอื้อมถึงและหาได้ง่าย เพื่อจูงใจให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ


29 กันยายน วันหัวใจโลก

ธีมวันหัวใจโลก (World Heart Day) ปี 2566 “Use heart, know heart is open-ended” กระตุ้นให้ทุกคนดูแลหัวใจของตนเองและผู้อื่น แคมเปญปีนี้เน้นไปที่ขั้นตอนสำคัญในการเข้าใจหัวใจก่อน “เพราะเมื่อเรารู้มากขึ้น เราก็สามารถดูแลได้ดีขึ้น” ซึ่งในโลกที่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพหัวใจมีจำกัดและนโยบายไม่เพียงพอในแต่ละประเทศ สหพันธ์หัวใจโลกจึงมีเป้าหมายที่จะทลายกำแพงและมอบอำนาจให้แต่ละบุคคลควบคุมความเป็นอยู่ที่ดีของตนได้ ปีนี้สหพันธ์หัวใจโลกส่งเสริมให้ผู้คนใช้อิโมจิสัญลักษณ์หัวใจ ❤️ เป็นภาษาภาพสื่อสารต่อกันเพื่อแสดงความห่วงใยต่อคนที่อยู่รอบตัว และสร้างความตระหนักถึงการดูแลรักษาให้ใจที่ถูกวิธี

สำหรับ “โรช” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยารายแรกๆ จวบจนวันนี้ โรชเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำทางด้านศาสตร์แห่งการตรวจวินิจฉัยแบบภายนอกร่างกาย (in-vitro diagnostics) บริษัทฯ มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเวชภัณฑ์ รวมถึงวิธีการตรวจวินิจฉัย เพื่อรักษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก โรชคือผู้ริเริ่มรูปแบบการดูแลรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล (Personalised Healthcare) และมุ่งหวังที่จะพลิกโฉมบริการด้านเฮลต์แคร์ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ มากมายเพื่อส่งมอบการดูแลที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับแต่ละบุคคล โดยการผสานความแข็งแกร่งของงานด้านเวชศาสตร์ เข้ากับศาสตร์แห่งการวินิจฉัย และใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการปฏิบัติงานจริงทางการแพทย์

ทั้งนี้ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices, DJSI) ได้ยกย่องให้โรชเป็นหนึ่งในบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในวงการเภสัชกรรมเป็นระยะเวลาติดต่อกันมาแล้วถึง 13 ปี ถือเป็นเครื่องยืนยันความอุตสาหะ และความมุ่งมั่นในการดำเนินตามวิสัยทัศน์ของโรชได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของโรชในการเพิ่มการเข้าถึงบริการเฮลต์แคร์ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ

ยีนเอ็นเทค (Genentech) ในสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่กลุ่มบริษัทโรชเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด และโรชเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ชูไก ฟาร์มาซูติคอล (Chugai Pharmaceutical) ในประเทศญี่ปุ่น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *