งู้ยยย น้องงง !!! ในยุคสมัยที่เราเรียกสัตว์เลี้ยงว่าน้อง และเรียกเพื่อนสนิทเป็นชื่อสัตว์เลื้อยคลาน ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงได้เข้าไปครอบครองพื้นที่ในใจของเหล่าบรรดาคนรักสัตว์เลี้ยง เราจึงพบเห็นความน่ารักของสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สัตว์เลี้ยงยอดนิยม อย่างน้องหมาและน้องแมว อีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึง สัตว์แปลก หลากหลายสายพันธุ์ อย่าง งูบอลไพธอน
สัตว์แปลก หรือสัตว์เลี้ยงพิเศษ (exotic pets) อย่างนกฟอร์พัส หนูแฮมสเตอร์ งูบอลไพธอน และกระต่ายสายพันธุ์ต่าง ๆ ก็เป็นสัตว์เลี้ยงอีกหนึ่งประเภท ที่ได้เข้าไปยึดพื้นที่ห้องนั่งเล่นของหลายบ้าน รวมไปถึง ความนิยมของผู้คนที่ชื่นชอบชื่นชมวิถีชีวิตของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงในบ้าน ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้สัตว์เลี้ยงพิเศษ กลายเป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้างมากขึ้น
คุณพิม ผู้ก่อตั้งช่อง “ไอ้ต้าวงู้ยยย” ก็เป็นหนึ่งในคุณแม่ของน้องงูจำนวน 10 ตัว ที่ได้รับการยกย่องในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ และมีผู้ชมเรื่องราวของเธอกับน้องงูแสนน่ารักนับล้านครั้งทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook, Instagram และ Tiktok
กว่าจะพาน้องงูเข้าบ้านได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนเด็ก ๆ พิมชอบตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาด ที่มองเข้าไปในดวงตาของตัวละครเหล่านี้แล้วรู้สึกมีเสน่ห์ และน่าค้นหา” คุณพิมกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความชอบสัตว์เลี้ยงพิเศษ “หลังจากนั้น ครอบครัวก็พาไปเที่ยวสวนสัตว์ และได้จับงูเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกว่าความฝันถูกเติมเต็ม แต่ก็ไม่เคยคิดว่า เราจะสามารถเลี้ยงพวกเขาเป็นสัตว์เลี้ยงได้”
หลังจากนั้น คุณพิมได้พูดคุยกับที่บ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยง และปฏิกิริยาของสมาชิกในบ้านก็ไม่เห็นด้วยกับคุณพิมในเรื่องนี้ “จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี พิมได้รู้จักกับเพื่อน ที่เลี้ยงงูไว้หนึ่งตัว พิมจึงใช้โอกาสนี้เป็นการศึกษาการเลี้ยงน้องงู และในขณะเดียวกันก็กลับไปโน้มน้าวที่บ้านเรื่องการรับเลี้ยงน้องงูด้วย
คุณพิมใช้เวลากว่า 2 ปี สำหรับการให้ข้อมูลกับทางบ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงงู ทั้งข้อมูลทางวิชาการ เล่าประสบการณ์ของผู้ที่เลี้ยงมาก่อน และภาพความน่ารักของน้องงู “ท้ายที่สุด พิมตัดสินใจเอาน้องงูเข้าบ้านเลย และบอกกับทางบ้านว่า ‘เพื่อนฝากเลี้ยง’ ” คุณพิมกล่าวถึงน้องงูตัวแรกที่นำเข้าบ้าน
อย่างไรก็ตาม ทางบ้านก็ยังไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพิเศษชนิดนี้ โดยแสดงความกังวลผ่านคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ที่หน้าตาอาจไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า “สัตว์เลี้ยง”
“งูตัวแรก พิมขออนุญาตเพื่อนมาเลี้ยงที่บ้านจริง ๆ ค่ะ เนื่องจากเพื่อนมีงูหลายตัว เพื่อประเมินว่า ตัวพิมเองชอบเลี้ยงงูจริง ๆ หรือไม่” คุณพิมเล่าถึงเหตุผลของการนำน้องงูเข้าบ้าน และเสริมว่า “พอได้เลี้ยง ได้คลุกคลีกับเขาแล้ว พิมรู้สึกชอบน้องงูจริง ๆ ค่ะ”
น้องงูตัวแรกที่ซื้อเป็นของตัวเอง กับบทบาทคุณแม่มือใหม่
“ย้อนกลับไปในช่วงที่พิมตัดสินใจจะซื้อน้องตัวแรก ช่วงนั้นราคาต่อตัวแพงมากค่ะ โดยเฉพาะน้องที่มีลวดลายสีสันสวยงาม ซึ่งพิมก็อยากเลี้ยงน้องที่ลายสวย ๆ ” คุณพิมกล่าวถึงประสบการณ์ของการซื้อน้องงูตัวแรก
ระหว่างนั้น ทางบ้านก็ยิ่งเพิ่มความกังวลใจต่อคุณพิมขึ้่นไปอีก เมื่อได้ทราบราคาของน้องงูหนึ่งตัว แต่มีอยู่หนึ่งบุคคลที่ให้การสนับสนุน นั่นคือคุณป้า ที่เป็นผู้สมทบค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้องูตัวแรกให้แก่คุณพิม
“นั่นคือจุดเริ่มต้นของ เจได ค่ะ งูบอลไพธอนตัวแรกที่พิมได้ทำหน้าที่เป็นคุณแม่อย่างเต็มตัว” คุณพิมกล่าว
งูบอลไพธอน หรืองูหลามบอล เป็นงูที่มีนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าว เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจะขดตัวกลมคล้ายลูกบอล จึงเป็นที่มาของชื่อบอลไพธอน โดยตามธรรมาติงูชนิดนี้ เลือกกินเฉพาะหนู และสัตว์ฟันแทะเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากงูหลามและงูเหลือมชนิดอื่น ๆ
“พิมนำเจไดเข้าบ้านเมื่อน้องอายุได้ 2 เดือนค่ะ พิมเลี้ยงเขาเหมือนลูกเลย เหมือนได้ทำตามความตั้งใจสักที ส่วนน้องงูตัวที่พิมขอเพื่อนมาเลี้ยง ก็เกิดความรู้สึกผูกพัน จึงตัดสินใจซื้อต่อจากเพื่อนค่ะ และก็เกิดเรื่องที่น่าเสียใจสำหรับคุณแม่มือใหม่ น้องงูตัวนั้นได้หลุดออกจากรง และหายไป” คุณพิมเล่า
จากเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความเสียใจ คุณพิมจึงต้องรีบปรับปรุงแก้ไขที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับเจได เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำสอง
จากหนึ่งกลายเป็นสิบ
เริ่มจากเจไดเพียงตัวเดียว ปัจจุบัน คุณพิมเป็นคุณแม่ของน้องงูทั้งหมด 10 ตัว “แน่นอนว่า การสร้างบรรยากาศเพื่อให้สมาชิกในบ้านเปิดรับความน่ารักของน้องูยังต้องดำเนินต่อไป” คุณพิมเล่าถึงกระบวนการเพิ่มประชากรน้องงูในบ้าน “เริ่มจาก พิมนำน้องใส่กล่องมาวางในพื้นที่ที่สมาชิกในบ้านสามารถมองเห็นได้อย่างสะดวก และทิ้งระยะห่างที่ไม่สร้างความอึดอัดใจต่อทุกคน”
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มคุ้นชินกับการมองเห็น และอยู่ร่วมกับน้องงู โดยรู้สึกไม่เป็นอันตราย “คุณพ่อก็เริ่มเคยชินกับน้องงูมากขึ้นค่ะ” น้องพิมกล่าวและเสริมว่า “และในระหว่างนั้น เราก็ให้ข้อมูลคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า น้องงูสายพันธุ์นี้มีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกันมากขึ้น”
ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้เลี้ยงสัตว์แปลก มักเป็นปัญหาในครอบครัว เนื่องจาก สมาชิกที่บ้านไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ทั้งเรื่องของราคา ความอันตราย และรูปร่างหน้าตาของน้อง ๆ สัตว์แปลก ที่ผู้คนไม่คุ้นชินเหมือนกับสัตว์เลี้ยงยอดนิยม อย่างสุนัขและแมว
“พิมใช้ความใจเย็น และค่อยเป็นค่อยไปค่ะ พิมค่อย ๆ นำน้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช้การคุกคาม เช่น การยื่นงูใส่คุณพ่อตรง ๆ ให้เวลาคุณพ่อคุณแม่ได้เปิดใจกับน้อง ๆ ด้วยตัวเอง” คุณพิมอธิบาย
ความท้าทายของการเป็นคุณแม่ไอ้ต้าวงู้ยยย
ขึ้นชื่อว่าสัตว์เลี้ยงพิเศษ ย่อมมีความพิเศษอยู่ในตัว และนั่นก็กลายมาเป็นความท้ทายที่คุณพิมต้องเผชิญเมื่อเลี้ยงน้องงู “สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ ร้องไม่ได้เหมือนสุนัขและแมวค่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเกิดโรคอะไรบางในร่างกาย เราไม่ไมีทางรู้เลย จนกระทั่งอาการของโรคแสดงออกมาที่ภายนอก”
ดังนั้น การหมั่นสังเกตความสมบูรณ์ของร่างกายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณพิมเล่าว่า เธอต้องหมั่นจับและตรวจสอบความสมบูรณ์ของเกล็ดงูอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตของน้องได้
“อีกหนึ่งความท้าทาย พิมคิดว่า เป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลของน้องค่ะ ในประเทศไทย โรงพยาบาลสัตว์ที่รักษาสัตว์เลี้ยงพิเศษมีน้อยมาก และค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ที่คิดจะเลี้ยงควรพิจารณาเรื่องรักษาของน้องด้วย” คุณพิมกล่าว
สัตว์เลี้ยงแต่ละตัว มีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน การใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวอย่างใกล้ชิดจะเป็นหนึ่งในวิธีการที่ ผู้เลี้ยงจะได้ทำความรู้จักลักษณะนิสัยของสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้มากขึ้น เรื่องเวลาจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้เลี้ยงควรจัดสรรให้มีคุณภาพ
อย่าตัดสินใจเลี้ยงสัตว์เพียงเพราะเห็นคนอื่นเลี้ยง
“พิมพยายามสร้างเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ เพื่อสื่อสารข้อมูลให้ผู้ชมได้รับรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงน้องงูค่ะ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักเลย” คุณพิมกล่าวและเสริมว่า “พิมพยายามเลือกคำถามจากทางบ้าน มาหาข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนนำเสนอออกไป”
ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงเป็นเสน่ห์ดึงดูดที่ทำให้หลายคนตัดสินใจรับน้องเข้ามาดูแล นอกจากนี้ อิทธิพลของสื่อออนไลน์ได้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น และส่วนใหญ่ก็มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม “ในมุมของพิม พิมคิดว่า ไม่ใช่เพียงการรับเลี้ยงน้องสัตว์เลี้ยงพิเศษเท่านั้น แต่การพิจารณาเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็เช่นกัน ต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม นิสัย และความต้องการพื้นฐาน ของสัตว์เลี้ยงก่อนจะตัดสินใจรับเลี้ยง” คุณพิมกล่าว
การดูแลสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิด ต้องพิจารณาความพร้อมของตัวเองให้ถี่ถ้วน ควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวของสัตว์เลี้ยงให้ครบถ้วน ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร และการรักษาโรค และประเมินตัวเองว่า พร้อมกับการดูแลสัตว์เลี้ยงชนิดนั้น หรือไม่ ไม่อยากให้มองว่า เห็นคนอื่นเลี้ยงแล้วน่ารักดี จึงเกิดความรู้สึกอยากเลี้ยงตาม คุณพิมกล่าวปิดท้าย
ติดตามคุณพิมได้ทุกช่องทางได้ที่
เฟซบุ๊กแฟนเพจ : ไอ้ต้าวงู้ยยย
อินสตาแกรม : pimmiry
tiktok : pimandjedii