สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนุนเครือข่ายสร้างพื้นที่สุขภาวะ พร้อมร่วมผลักดันนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายในทุกมิติ หลังภาคีพบพื้นที่สุขภาวะที่ตอบโจทย์ชุมชน นำไปสู่ความเข็มแข็งทั้งร่างกายและสัมพันธภาพที่ดี มีความยั่งยืน ข้อคิดจากการเสวนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ของพื้นที่สุขภาวะและวิถีสุขภาวะของคนทุกคน” ในงานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1-พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม: Active Environment for All
ผศ.ดร.ภก. พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หลังจากร่วมทำงานกับ สสส. ได้ชักชวนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้นำเรื่องกิจกรรมทางกายเข้าเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีมติที่ผ่าน ครม.ออกมาแล้วว่า หากจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ สิ่งที่แต่ละหน่วยงานต้องทำ เช่น ส่วนของกระทรวงมหาดไทย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาแนว ทางในการนำพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาปรับให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยให้ทางสมาคมสถาปนิก สยามช่วยในเรื่องการออกแบบ รวมทั้งผลักดันให้ท้องถิ่นนำงบประมาณมาให้เครือข่ายภาคประชาชนใช้ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล ส่งเสริมให้สถานศึกษา สถานประกอบการ มีนโยบายในการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยอาจจะมีการนำมาตรการด้านภาษีมาช่วยสนับสนุน
“ทาง มอ. และ สสส.ได้ลงไปช่วยทำโครงการนำร่อง จนขณะนี้มีกองทุนสุขภาพตำบล 2,000-3,000 แห่ง เข้าร่วมทำแผนเรื่องกิจกรรมทางกาย ต่อไปจะมีโครงการที่เครือข่ายในชุมชนสามารถทำเรื่องเสนอเพื่อของบประมาณเพื่อดำเนินการพื้นที่สุขภาวะได้ ขณะเดียวกันก็มีการกิจกรรมออกกำลังกาย ในสถานประกอบการ โรงเรียน ในศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่ตัวอย่างที่ร่วมกับ สสส. เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต โดยนำตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เสนอให้จังหวัดจัดทำแผน ล่าสุด มีการลงนามความร่วมมือ นำกิจกรรมทางกายเป็นวาระของจังหวัด มีทั้งฝ่ายวิชาการ ชุมชน และภาครัฐทำงานร่วมกัน เทศบาลแต่ละแห่งก็บรรจุอยู่ในแผนเรียบร้อยแล้ว นี่คือความร่วมมือที่เกิดขึ้น”
ด้าน ดร.นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวง สาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายคือ ต้องมีความรู้ควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติ โดยภาคีเครือข่ายมีส่วนสำคัญในการร่วมกันสร้างโอกาสให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณะสุข เคยทำโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมกิจกรรม ทางกายตั้งแต่เด็กปฐมวัย เพราะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงต่อไป ที่สำคัญคือการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจเรื่องของกิจกรรมทางกายว่าสำคัญอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องให้องค์กรทั้งสถานศึกษา สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล ชุมชน ตระหนักด้วยว่ากิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนในองค์กรมีอายุยืนยาว โดยมีด้านคมนาคมและผังเมืองที่จะสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายได้ด้วยการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ
ขณะที่ อ.ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันอาศรมศิลป์ ได้แชร์ประสบการณ์จากการทำงาน ในการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ ได้แก่ ลานกีฬาพัฒน์ 1 และ 2 ว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่และความรู้สึกเป็นเจ้าของสถานที่ นับเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าทั้งสองแห่งจะมีบริบทพื้นที่ต่างกันก็ตาม ลานกีฬาพัฒน์ 1 เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชุมชนที่อาศัยอยู่ในแฟลตการเคหะกว่า 7,000 คน ลานกีฬาพัฒน์ 2 อยู่ในพื้นที่เมืองมากกว่ามีเจ้าของพื้นที่อย่างชุมชนบ้านครัวและคนทั่วไปมาร่วมใช้พื้นที่
“หลักในการออกแบบของเราคือฟังเสียงเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้คนที่เข้ามาใช้ ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยเน้นการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ตรงกับโจทย์ที่เขาต้องการ เพื่อสร้างสถานที่ ให้มีกิจกรรมสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสุขภาวะทางสังคม โดยอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ลานกีฬาพัฒน์ 1 ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของ มีการลงขันร่วมกันซ่อมแซมอนุสาวรีย์เรือใบ จะเห็นได้ว่าถ้าชุมชนมีความรักมากพอก็จะช่วยกันดูแลรักษา ช่วยลดภาระของภาครัฐ ทำให้มีสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกัน สิ่งที่ตามมาคือ จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเราเชื่อว่า การสร้างพื้นที่พร้อมกับการสร้างคน เชื่อมโยงไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ขบวนการเล็กๆ ที่ได้สัมผัสจากการทำงานที่ผ่านมา นำไป สู่เรื่องที่ดีๆ ได้จริงๆ”
นอกจากนี้ยังมี ห้องสมุดลอยฟ้าและสวนสาธารณะที่ท่าฉลอม ที่สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับเทศบาล ปรับให้เป็นลานกีฬาและวัฒนธรรมชุมชน มีทั้งคนในพื้นที่ และกลุ่มแรงงานชาวพม่า มาใช้ปะโยชน์ร่วมกันด้วย โดยได้นำโมเดลนี้ไปขยายในพื้นที่ระยอง ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับพื้นที่แต่ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยเน้นการสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศพิษและน้ำเสียด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากการเชื่อมโยงเรื่องราวสุขภาวะของผู้คน