‘กูรู’ชี้ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาโรค ผลข้างเคียงสูง เสี่ยงเกิดสงครามค่าเงิน


วันที่ 21 ก.พ. นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ย ซึ่งมองว่าดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค หากหวังพึ่งพาดอกเบี้ยนโยบาย การลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องลดลงถึง 1.25% จึงจะมากพอ ซึ่งเป็นการปรับลดในระดับวิกฤติการเงิน และเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด แต่ผลข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยเช่นนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และอาจเป็นการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน เพราะบาทที่อ่อนจะแย่งชิงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และอาจลามเป็นการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคได้ในภายหลัง

“ประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่น่าติดตาม ระหว่างรัฐบาลที่คาดหวังการลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจกับแบงก์ชาติที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านทิศทางดอกเบี้ยมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงสัปดาห์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค และโดยเฉพาะหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัวต่ำจากปีก่อนหน้า และหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งย้ำถึงแรงกดดันในการลดดอกเบี้ยในวันที่ 10 เม.ย.นี้ มากขึ้น”

หนทางแก้เกมที่ดีที่สุด คือ ประสานนโยบายการเงินและการคลัง และเชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้มาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ปัญหาเชิงโครงสร้างมาจากการขาดความเชื่อมโยงของภาคการผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก การส่งออกขยายตัวต่ำแม้อุปสงค์ตลาดโลกกำลังฟื้นตัวได้ดี การขาดความสามารถในการแข่งขันหรือขาดสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐ ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศปรับลดลง แต่เป็นการบรรเทาปัญหาชั่วคราว และผลข้างเคียงจากการลดดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป การลดดอกเบี้ยช่วงที่อุปสงค์ในประเทศยังแข็งแรง การบริโภคยังเติบโตได้ อาจส่งผลข้างเคียงให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นมารวดเร็วช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายไว้ใช้ยามจำเป็น

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและปราศจากมาตรการทางการคลังในการสนับสนุนเช่นนี้ คงต้องอาศัยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมสภาพคล่อง และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า หวังว่า ธปท.ยังมีหนทางอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินอื่นๆ มาเสริมได้อีก เช่น การลดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ลดวงเงินแอลทีวีและยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา แต่ก็ทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้มีความหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เหนือระดับ 2% แต่จะกระตุ้นให้ถึง 3% ได้หรือไม่ก็คงต้องรอดูมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลอีกที”


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *