นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ได้นำสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อและไขมันจากวัวมาปลูกถ่ายในเมล็ดข้าว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออาหารชนิดใหม่ที่มีโปรตีนสูง ราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีประโยชน์ต่อวงการทหาร การออกเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลและการเดินทางในอวกาศด้วย
หลักการนี้คล้ายกับการปลูกเซลล์เนื้อวัวในห้องแล็บ แต่ครั้งนี้เป็นการปลูกลงไปในรูพรุนของเมล็ดข้าว ซึ่งโมเลกุลบางชนิดในข้าวก็ช่วยให้เซลล์เจริญเติบโต ทั้งนี้นักวิจัยไม่ได้ชี้แจงว่าข้าวที่นำมาทำการทดลองนี้คือข้าวชนิดใด ขั้นแรกนักวิจัยก็จะนำเจลาตินจากปลาไปเคลือบข้าว จากนั้นนำเซลล์จากกล้ามเนื้อวัวและไขมันมาปลูกถ่าย ในสัดส่วนที่แตกต่างกันหลากหลายสูตร ซึ่งเจลาตินจากปลาจะช่วยให้เซลล์จากวัวติดกับข้าวได้ดีขึ้น หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 9 – 11 วัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือข้าวสีชมพูที่หลายคนอาจจะมองว่าน่าขนลุกสักหน่อย แต่มันเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ
โดยนักวิจัยได้นำข้าวปริมาณ 100 กรัม ไปหุงเพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ พบว่าข้าวจากเซลล์วัวมีโปรตีนมากกว่าข้าวปกติ 0.31 กรัม คิดเป็น 8.66% มีไขมันมากกว่าข้าวปกติ 0.01 กรัม คิดเป็น 7.14% รวมถึงปริมาณคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นสารอาหารหลักในข้าว เมื่อมีการปลูกถ่ายเซลล์เนื้อวัวเพิ่มเข้าไป ปริมาณคาร์โบไฮเดรตก็ไม่ได้ลดลง แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.16 กรัม คิดเป็น 0.33% เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเนื้อสัมผัสแน่นขึ้น สำหรับข้าวที่สร้างจากเซลล์กล้ามเนื้อจะมีกลิ่นคล้ายเนื้อวัวหรืออัลมอนด์ ส่วนแบบที่สร้างจากเซลล์ไขมันจะมีกลิ่นคล้ายครีม เนย หรือน้ำมันมะพร้าว
นักวิจัยชี้ว่า ข้าวจากเซลล์วัวนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเนื้อสัตว์ โดยประเมินว่าการผลิตข้าวจากเซลล์วัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 6.27 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม ส่วนเนื้อวัวปล่อย 50 กิโลกรัมต่อโปรตีน 100 กรัม นอกจากนี้ ราคาก็ต่ำกว่ามากเช่นกัน โดยราคาข้าวจากเซลล์วัวจะอยู่ที่ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับเนื้อวัวที่ราคา 14.88 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 530 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อนำออกขายจริงหรือเชิงพาณิชย์
ทีมงานวิจัยกล่าวว่า ข้าวจากเซลล์วัวนี้มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งคุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมันจึงควรจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะนำไปขาย นอกจากนี้ด้วยการจัดเก็บที่ง่ายกว่าเนื้อสัตว์ มันจึงสามารถนำไปใช้ในหลากหลายสถานการณ์เช่น เดินป่า หรืออาจถูกพิจารณาเพื่อนำไปเป็นอาหารของนักบินอวกาศด้วย ต่อจากนี้เป็นเพียงการโน้มน้าวใจให้ผู้คนมั่นใจและซื้อไปรับประทาน
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารแมตเทอร์ (Matter) ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024
ที่มาข้อมูล NewAtlas, Cell, Scimex
ที่มารูปภาพ Scimex