ขอบคุณชีวิตใหม่! หมอเผยความสำเร็จ รักษา นศ.สาววัย 18 ป่วยเหยียดร่างกายไม่ได้ เคสแรกของอีสาน
เมื่อเวลา 15.30น. วันที่ 22 ก.พ.67 ที่ห้องประชุมหนองแวง อาคารเรียนรวม รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. พร้อมทีมแพทย์ร่วมกันแถลงข่าว ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน ที่นับว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน ท่ามกลางความสนใจจากผู้ที่ตามข้อมูลข่าวสารมาร่วมรับฟังและร่วมแสดงความยินดี จำนวนมาก
นพ.อภิชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทีมแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ ที่ได้รับตัว น.ส.ธนวรรณ โตภูเขียว อายุ 18 ปี ชาว ต.ภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เข้ารักษา ด้วยอาการผิวหนังตึงและการยืดเหยียดของร่างกายทำไม่ได้เต็มที่ โดยผิวหนังแข็งตึงทั้งตัว ยกแขนขาลำบาก ช่วงหน้าหนาวจะเกิดแผลตามข้อนิ้ว ข้อศอก รู้สึกเจ็บมาก
ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบาก ทำกิจกรรมกับเพื่อนเวลาไปเรียนได้ไม่เต็มที่ ทีมแพทย์ของ รพ.ศรีนครินทร์ นำทีมโดย ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ แพทย์ผู้เชียวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม ตรวจสอบสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่มีแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรหรือเกิดจากปัจจัยใด ส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคหนังแข็งอยู่ที่ 2-3 คน ต่อประชากร 100,000 คนทุกปี แต่ในภาคอีสานจะเจอ 4 คนต่อประชากร 100,000 คนทุกปี
น้องเป็นคนไข้รายแรกของภาคอีสาน และเป็นคนไข้ที่อายุน้อยที่สุดที่รักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์กำเนิดเม็ดเลือด ไม่อยากให้ต้องทุกทรมานกับโรค เพราะต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตมีครอบครัวไปทำงานอยู่ในสังคมทีมแพทย์ จึงลงความเห็นว่าต้องเร่งรักษาให้เร็วและรักษาด้วยวิธีที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรักษาด้วยวิธีเดียวกันได้ทุกคน
ต้องมีการคัดเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ไม่อายุมากเกินไปเพราะว่าการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด มีความเสี่ยงเพราะว่าการรักษาจะได้ยาที่มีผลกับร่างกายอย่างมาก ถ้าอายุเยอะอาจจะรับผลข้างเคียงไม่ไหว และโรคต้องไม่รุนแรงลงปอดลงหัวใจมากเกินไป แต่ของน้องอยู่ในระยะที่เหมาะสม น้องมีผิวหนังตึงรุนแรงแต่ภายในยังไม่รุนแรง อายุน้อยถือว่าเหมาะสมที่จะรักษาและได้ผลดี
ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม กล่าวว่า การรักษาจริงๆ อาจจะไม่สูงมาก แต่ด้วยเวลารักษาแล้วจะมีโรคแทรกซ้อน ทำให้ต้องรักษาโรคอย่างอื่นร่วมด้วย เพราะทางแพทย์ต้องล้างเซลล์เดิมที่ผิดปกติออกไปให้หมดจากร่างกาย ต้องทำลายออกให้หมด เพราะถ้าไม่หมดจะมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย เป็นเหตุต้องใช้ค่ารักษาเกี่ยวกับการติดเชื้อด้วยค่ารักษาประมาณ 1.5 ล้านบาท
ในปัจจุบันการรักษาแบบปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นการรักษาที่ทำให้โรคหายขาด แต่เคสนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการรักษาและติดตามผลอีกประมาณ 1-2 ปี คาดว่าจะหายกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ววัน และมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ถ้ามีแผลทำให้ไปเรียนไม่ไหว
ขณะที่ น.ส.ธนวรรณ กล่าวว่า ช่วงหน้าหนาวจะทรมานที่สุด จะขาดเรียนบ่อย หลังจากที่รักษาไปแล้ว 7 เดือน ร่างกายเริ่มกลับมาใช้งานได้ปกติ สามารถไปออกกำลังกายและไปทำกิจกรรมกับเพื่อนได้เยอะขึ้น รู้สึกดีขึ้นมาก มีความสุขกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตลอดระยะเวลาการรักษา จะมีแพทย์ พยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา ขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลที่ช่วยให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง