ราคาอาหารสด,มาตรการรัฐ ฉุดเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 5 พณ.ย้ำไม่เกิดเงินฝืด



อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ผลจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน และการลดลงของราคากลุ่มอาหารสด สนค.มั่นใจไม่เกิดเงินฝืดแน่นอน คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 67 อยู่ระหว่าง -0.3 – 1.7 %

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77 % ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังมาจากราคาอาหารสดลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งน้ำมันดีเซล ,ค่าไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ส่วนสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหว ในทิศทางปกติ

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.43% (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.52%

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567  (2) ฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด และ (3) เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น (3) สภาพอากาศ ที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และ (4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อ จะติดลบต่อเนื่อง แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินฝืดอยู่ที่หลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อพื้นฐาน และมาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเบื้องต้นเงินเฟ้อ น่าจะยังลดลงต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน โดยต้องรอดูว่า รัฐบาล จะขยายมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ที่จะสิ้นสุด 19 เมษายนนี้หรือไม่ หากไม่ขยาย ก็คาดว่า เงินเฟ้อ จะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 2567 อยู่ระหว่าง ติดลบ 0.3 ถึง บวก 1.7 % ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะทบทวนอีกครั้ง


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *