เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024” กลับมาแล้ว เตรียมสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งกับการจัดแสดง 200 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)” บนสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร วันที่ 24 ตุลาคม 2667 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568
วันที่ 10 ตุลาคม 2566 “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024” เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยมีกำหนดจัดขึ้นในทุก ๆ 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการศิลปะไทยและทั่วโลก โดยมีหัวเรือใหญ่คือ “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)” ที่ผสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน
ล่าสุดได้ประกาศออกมาแล้วว่าเทศกาลจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2667 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมรายชื่อศิลปินกลุ่มแรกจากไทยและนานาชาติที่จะมาสร้างปรากฏการณ์ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ผลงาน ภายใต้แนวคิดใหม่ “รักษา กายา (Nurture Gaia)” บนสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร
“ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์” ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า นับเป็นอีกครั้งของกรุงเทพมหานครกับการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานคร กลายเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงแห่งเมืองศิลปวัฒนธรรม
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2018 และจัดต่อเนื่องในปี 2020 และปี 2022 ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งมุมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากจะสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ศิลปินไทย และศิลปินจากทั่วโลกให้ได้แสดงผลงานในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนให้นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสได้สัมผัสกับผลงานที่แปลกใหม่และหลากหลาย
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }
สำหรับปีนี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดใหม่ “รักษา กายา” (Nurture Gaia) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของเทพีกรีก นามว่า “ไกอา” (Gaia) ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างของพระแม่ธรณี หรือแม่ของผืนดิน (Mother Earth) ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต
ไกอา ถูกกล่าวถึงมาเป็นเวลานานในหลากหลายช่วงเวลาและวัฒนธรรม นอกจากการมีอยู่ในรูปแบบของความลี้ลับหรืออำนาจวิเศษแล้ว ยังได้จุดประกายความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทฤษฎีกาญ่า ของศาสตราจารย์ เจมส์ เลิฟล็อค และปรัชญาแขนงอื่น ๆ อีกมากมาย
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกด้วยสื่อที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของอนาคตในด้านสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 300px;
min-height: 250px; } }
โดยพร้อมจะเนรมิตสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ทั้งในย่านใจกลางเมือง และในย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน จากศิลปินชั้นนำของโลก ได้แก่
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และ วันแบงค็อก เป็นต้น ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ กล่าว
โดยล่าสุดได้ประกาศรายชื่อ 15 ศิลปินนานาชาติกลุ่มแรก ที่จะเดินทางมาร่วมแสดงผลงานศิลปะ นำโดย แอกเนส อเรลลาโน, (ฟิลิปปินส์) โจเซฟ บอยส์ (เยอรมนี), จอร์จ โบลสเตอร์ (สหรัฐอเมริกา), หลุยส์ บูร์ชัวส์ (ฝรั่งเศส-สหรัฐอเมริกา), อแมนดา คูแกน (ไอซ์แลนด์), ดุษฎี ฮันตระกูล (ไทย), ญาณวิทย์ กุญแจทอง (ไทย), ประสงค์ ลือเมือง (ไทย), อับราฮัม พอยน์เชวาล (ฝรั่งเศส), ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ (ไทย), เจสสิก้า ซีกัล (สหรัฐอเมริกา), พิม สุทธิคำ (ไทย) หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร, (ไทย), ส้ม ศุภปริญญา (ไทย), และวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ (ไทย)
สำหรับความพิเศษในปีนี้ได้รับเกียรติจากคณะที่ปรึกษานานาชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินระดับโลก เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำ, ลิโต คามาโช ประธานกรรมการ University of the Arts Singapore (UAS), คิม คามาโช นักสะสมผลงานศิลปะ, มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น’ ดร.ยูจีน ตัน ผู้อำนวยการ National Gallery Singapore และSingapore Art Museum มาร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย
พร้อมกันนี้ยังมีคณะภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์อีก 5 ท่าน มาร่วมทำงานกับศิลปิน และคัดเลือกผลงานศิลปะ จากนานาประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, พอใจ อัครธนกุล หัวหน้าแผนกงานภัณฑารักษ์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ดร.ไบรอัน เคอร์ติน นักวิจารณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์อิสระ, อากิโกะ มิกิ ภัณฑารักษ์ และผู้อำนวยการศิลป์นานาชาติ Benesse Art Site เกาะนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น, ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์และ อดีตผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากนี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ยังจัดโครงการ Open Call for Artists ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อเปิดรับสมัครให้ศิลปินรุ่นเยาว์และมืออาชีพจากทั่วโลกได้ส่งผลงาน และพอร์ตโฟลิโอเพื่อรับการพิจารณาเป็นศิลปินร่วมแสดงในเทศกาลครั้งนี้ด้วย โดยจะเปิดรับสมัคร วันที่ 28 ตุลาคม ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นี้