นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 67 จะเติบโต 6% แตะ 43,000 ล้านบาทแบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 38,000 ล้านบาท เติบโต 6% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 5,000 ล้านบาท เติบโต 11% จากปี 66 ที่บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 40,077 ล้านบาท แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 35,633 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,444 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิราว 3,000 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานในปี 66 บริษัทยังครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาด เป็นอับดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 ส่วนแบ่งตลาด 22% ผลสำเร็จนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือของบริษัท
นายอมร กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 67 บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการต่างๆ ยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเน้นส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”
โดยตลอดระยะเวลา 77 ปี บริษัทยังคงดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย ตอกย้ำความมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 68,335 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) 180% สูงกว่ามาตรฐานเงินกองทุนตามกฎหมาย และในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่ม CAR เป็น 200%
ขณะที่ปี 66 บริษัทมีสินทรัพย์ลงทุนมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนราว 4.4% โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในหุ้น 2.9 หมื่นล้านบาท (ลดลง 6%) ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝาก 3.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ ได้แก่
1.นำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมบริการลูกค้าด้วย AI ผ่านบริการ “VClaim on VCall” หรือการเคลมนัดหมายออนไลน์ผ่านวีดีโอคอล จะขยายบริการนี้ออกไปครอบคลุมทั่วประเทศ และได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการใหม่ “V-Inspection” นำ AI เข้ามาช่วยตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการรับประกันภัยเพื่ออำนวยความสะดวกทุกที่ทุกเวลา
2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม Lifestyle ของลูกค้าโดยใช้ Big Data ตอบโจทย์ Personalization and Customer Insights โดยนำข้อมูลเชิงลึกสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
ในปีนี้บริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ต่อยอดมาจาก 2+Good Dive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิด Carriler, ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilitiesโดยการนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่, Viriyah Privileges เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก
*พร้อมลุยต่อประกันภัยรถ EV มั่นใจไม่ขาดทุนแล้ว
นายอมร กล่าวว่า จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 66 ที่มีอัตราเร่งตัวขึ้นมากมาที่ 18,000 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% จากปี 65 ที่มีเพียง 5,000 กว่าคัน บริษัทยังพร้อมเดินหน้าการรับประกันภัยรถ EA โดยมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลขาดทุนเหมือนในปี 66 ที่เป็นปีแรกที่เปิดรับประกัน แม้อยากจะคาดเดาหรือตั้งเป้าหมายในปีนี้ได้ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าบริษัทจะเติบโตไปตามอุตสาหกรรม ซึ่งการประกันภัยรถ EV ของบริษัทในล็อตแรกเริ่มจะครบ 1 ปีในช่วงกลางปีนี้ น่าจะนำมาประเมินตลาดได้
อย่างไรก็ดี การประกันภัยรถ EV จะมีเบี้ยที่สูงกว่ารถสันดาปราว 10-15% ซึ่งในปี 66 เป็นปีแรกที่บริษัทรับประกันภัยรถ EV ก็มีเบี้ยประกันภัยเข้ามาแล้ว 400 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของพอร์ตเบี้ยประกันภัยรถยนต์ของบริษัท
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวเสริมว่า งานซ่อมรถ EV เป็นเรื่องใหม่ของวงการประกัน บริษัทจึงได้มีการพูดคุยกับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถ EV เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องการให้ส่งเข้าศูนย์ซ่อมรถ EV โดยตรง เพราะมีจุดเปราะบางทางเทคนิค ช่างซ่อมทั่วไปยังไม่ชำนาญ
“จุดที่เกิดความเสียหายอย่างบันไดรถ EV ก็มีส่วนสำคัญเป็นจุดต่อกับแบตเตอรี่ หรือเสากลางของรถก็มีส่วนสำคัญกับแบตเตอรี่ หรือบังโคลนหลังที่มีจุดต่อเนื่องแบตเตอรี่ เราต้องการให้ตัวแทนจำหน่าย ผู้ผลิต มีส่วนเข้ามาดูแล เพราะแบตเตอรี่เป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดรถ EV ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯจึงได้จัดอบรมความรู้หลักสูตรเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย รวมไปถึงบริษัทคู่ค้าตัวแทนประกันวินาศภัย และศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
*ลุยประกัน Non-Motor ชู “ประกันภัยไซเบอร์” เป็นเรือธง
นางฐวิกาญจน์ เดชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าววา ในปี 67 บริษัทได้มีการวางแผนขยายประกันภัย Non-Motor เติบโต 11% โดยมุ่งเน้นการรับประกันความเสี่ยงภัยรายย่อยด้านส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยบ้าน และประกันภัยความรับผิด
ในปีนี้บริษัทจะโฟกัสประกันสุขภาพ ประกันสุขภาพเฉพาะโรค ประกับภัยโรคร้ายแรง และในไตรมาส 2/67 จะออกแผนใหม่ของประกันภัยเดินทางในต่างประเทศ และประกันภัยไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นประกันเรือธงปีนี้
นอกจากนี้ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities ออมาในรูปแบบ Green Insurance ที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยส่งเสริมการเป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่ ประกันอัคคีภัย
ในส่วนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทมีแผนพัฒนาระบบ New Care System โดยเริ่มใช้งาน New Care เฟส 1 ในส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทาง เมื่อเดือน ธ.ค.66 และในปีนี้ จะเป็นเฟสต่อไป ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ